เงินบาทเปิด 34.02 ‘แข็งต่อเนื่อง’ ตลาดหวังเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25%

เงินบาทเปิด 34.02 ‘แข็งต่อเนื่อง’ ตลาดหวังเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25%

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.02 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.10 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.15 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐเริ่มกลับมาสู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความวิตกต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐและธนาคารยุโรป

นายพูนกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าเงินเหรียญสหรัฐจะอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงคืนที่ผ่านมา หลังตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่เงินบาทกลับไม่ได้แข็งค่าขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยเข้ามาซื้อทองคำในช่วงย่อตัวลงได้ แถวโซน 1,970 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ อาจเป็นโซนแนวรับแรกที่ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อ

Advertisement

ส่วนในวันนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงและตลาดเริ่มคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในรอบการประชุมที่จะถึงในวันพฤหัสฯนี้ ก่อนที่จะคงดอกเบี้ยและอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี อาจช่วยหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น ทดสอบโซนแนวรับ 33.90-34.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าไปมากนัก หากราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และอาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ ส่วนใหญ่จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง)

ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะสามารถทยอยกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยได้หรือไม่ โดยเฉพาะหุ้นไทย หลังตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้แรงขายสุทธิหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลง หรือกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิได้บ้าง

Advertisement

“ช่วงนี้ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ ออปชั่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน” นายพูนกล่าว

นายพูนกล่าวว่า สำหรับวันนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนมีนาคม ตลาดคาดว่า ความกังวลต่อปัญหาระบบธนาคารในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

อาจส่งผลให้บรรดานักลงทุนสถาบันรวมถึงบรรดานักวิเคราะห์ ต่างปรับลดมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีลงบ้าง ทำให้ดัชนี ZEW เดือนมีนาคม อาจลดลงสู่ระดับ 17.1 จุด จาก 28.1 จุด ในเดือนก่อนหน้า (ดัชนีมากกว่า 0 หมายถึง มุมมองเชิงบวกต่อภาพรวมและแนวโน้มเศรษฐกิจ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image