‘อาคม’ ยันผลกระทบแบงก์สหรัฐ-ยุโรป น้อยกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ การเมืองสุญญากาศ โครงการรัฐยังเดินหน้า

‘อาคม’ ยันผลกระทบแบงก์สหรัฐ-ยุโรป น้อยกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ การเมืองสุญญากาศ โครงการรัฐยังเดินหน้า

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ช่วงนี้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจก็มีเรื่องของปัจจัยภายนอก คือปัญหาของธนาคารในสหรัฐและยุโรปที่ถูกปิดกิจการ ซึ่งได้คุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วว่า คนไทยมีธุรกรรมหรือการลงุทนในธนาคารดังกล่าวน้อยมาก ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาต่อระบบธนาคารไทย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยืนยันออกมาแล้ว

นายอาคมกล่าวว่า นอกจากนี้ ระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินของไทยหลังจากปี 2540 ก็มีความเข้มงวด ทำให้ไทยมีมาตรฐานเข้มแข็ง มีระบบการค้ำประกันเงินฝาก เงินสำรอง BIS Ratio หรืออัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงยังสูงกว่ามาตรฐาน และหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลในระบบธนาคารอยู่ที่ 2% เท่านั้น ดังนั้น สถาบันการเงินไทยยังมีความแข็งแรง

นายอาคมกล่าวว่า ในกรณีเครดิตสวิส ทำให้เกิดความตื่นตระหนก แต่ภาคการเงินของไทยไม่มีปัญหา ธปท.ก็ออกมาพูดแล้วว่าฐานะการเงินเข้มแข็งพอ โดยทุนสำรองระหว่างประเทศก็แข็งแกร่งที่ 2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสถาบันการเงินก็อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่พอร์ตการลงทุนของไทยในยุโรปนั้น แทบไม่มี หรือมีเพียง 2 ล้านบาทเท่านั้น

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม คงห้ามไม่ได้ที่เกิดความตื่นตระหนก ถ้าขยายวงกว้างก็จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง ธปท.ก็ได้ชี้แจงแล้ว ทั้งนี้ ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากความตื่นตระหนกในช่วงสั้นๆ และมองว่า ในหลายเรื่องก็มีผลกระทบในช่วงสั้นเท่านั้น หากมองผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการเงินการคลังนั้น ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 จะมีผลกระทบเยอะกว่า ซึ่งช่วงนั้นสถาบันการเงินไทยก็ประสบปัญหา แต่ขณะนี้ไทยก็แข็งแรงขึ้น รวมถึงตลาดทุนด้วย” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวว่า อีกประเด็นคือ ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565) ต่อเนื่องมาถึงเดือนมกราคมปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกติดลบต่อเนื่อง เนื่องจากการชะลอคำสั่งซื้อ ดังนั้น ไทยจะต้องหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะอาเซียน ส่วนค่าเงินบาท เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกิดความผันผวน ซึ่งมาจากปัจจัยภายนอก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายสัปดาห์นี้ ก็ต้องติดตามอัตราแลกเปลี่ยนของไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งค่าเงินบาทก็มีทั้งอ่อนและแข็งค่า แต่มองว่าปัจจุบันยังอยู่ที่เคยเป็น คือแข็งค่าระดับ 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ระดับดังกล่าวนั้น ถือว่าค่าเงินแข็งค่ากว่าปลายปี 2565

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับกรณีที่เอกชนมองว่า ภายใต้รัฐบาลรักษาการจะเกิดสุญญากาศทางการเมืองจนกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย นายอาคมกล่าวว่า ในส่วนภาคธุรกิจยังต้องเดินหน้าต่อไป เพราะเศรษฐกิจหยุดเดินไม่ได้ ขณะที่ภาครัฐเองก็มีโครงการที่ยังเดินต่อ อาทิ เราเที่ยวด้วยกัน มาตรการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล ที่สิ้นสุดถึงเดือนสิงหาคม 2566 และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็เดินหน้าต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณนั้น หากยังอยู่ในกรอบวงเงินเดิมตามปีงบประมาณ 2566 ก็สามารถใช้จ่ายได้ ยกเว้นการใช้จ่ายที่เป็นโครงการใหม่ จะต้องรอรัฐบาลใหม่มาพิจารณา

Advertisement

“ในส่วนนโยบายการคลังในช่วงรัฐบาลรักษาการนั้น ถ้าจำเป็นต้องเสนออะไรก็ทำได้ แต่ต้องมีเงื่อนไข คือไม่ผูกพันในรัฐบาลหรือนโยบายของรัฐบาลถัดไป” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวอีกว่า ส่วนเศรษฐกิจไทยฟื้นจริงหรือไม่นั้น มองว่าปี 2566 นี้จะเติบโตได้ 3-4% ต่อปี อย่างไรก็ดี ต้องจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบเศรษฐกิจไทยได้ คือ 1.เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก 2.เศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออกไทย และ 3.ความเสี่ยงของธุรกิจสถาบันการเงิน

นายอาคมกล่าวว่า ทั้งนี้ ในเรื่องปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์นั้น ในปีที่ผ่านมา กระทบต่อต้นทุนปัจจัยการผลิต ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยและทั่วโลกเพิ่มสูงมาก แต่ 2 เดือนแรกปี 2566 นี้ (เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) เงินเฟ้อของไทยทยอยลดลงมาเหลืออยู่ที่กว่า 3% แต่ยังต้องจับตา เพราะความขัดแย้งดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด

นายอาคมกล่าวว่า ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจไทยจะเดินไปทางไหนนั้น มี 5 เรื่อง คือ 1.นโยบายการเงินการคลังต้องสอดประสาน เน้นการเติบโตยั่งยืนและมีเสถียรภาพ โดยต้องดูเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงาน ซึ่งว่างงานเดือนมกราคม 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 1% แต่ต้องจับการเคลื่อนย้ายแรงงาน หลังโควิดที่ปรับจากภาคอุตสาหกรรมไปยังภาคเกษตรโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

นายอาคมกล่าวว่า 2.โมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นตัวชูโรงมี 12 อุตสาหกรรมใหม่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการลงทุนในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล มีการดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกทีเกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามาลงทุนในไทยได้แล้ว ขณะเดียวกัน ไทยก็ต้องมีมาตรการจูงใจดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งเรื่องมาตรการภาษี วีซ่า และความมั่นคงของพลังงาน

นายอาคมกล่าวว่า 3.การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ที่ผ่านมาไทยได้หารือกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศให้เข้ามาสนับสนุนเรื่องเงินเพื่อลงทุนในโซลาร์เซลล์ 4.นโยบายคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยลดโลกร้อน และ 5.การปรับโครงสร้างรายได้ ซึ่งต้องหารายได้เข้าเพิ่ม เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลในปัจจุบันต่อจีดีพีอยู่ที่ 13% จากปกติอยู่ที่ 17-18% ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศ ส่วนรายจ่ายนั้น ต้องดูความคุ้มค่าของงบประมาณ โดยเฉพาะการลงทุนต้องหันไปลงทุนเรื่องทรัพยากรมนุษย์กับการศึกษาพัฒนาทักษะแรงงาน จากเดิมที่เน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image