คลอดกม. ‘การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566’ บังคับใช้ 1 พ.ย. 66

กรอ. เร่งคลอดประกาศอุตสาหกรรม ‘การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566’ บังคับใช้ 1 พ.ย. 66 ย้ำผู้ก่อกำเนิดต้องรับผิดชอบจนกว่ากากอุตสาหกรรมจะได้จัดการแล้วเสร็จ

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรอ. ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน จึงได้มีการปรับปรุงประกาศฉบับล่าสุด เรียกว่า “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566” ซึ่งเป็นประกาศที่จะนำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle; PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยกำหนดภาระความรับผิด (Liability) ตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิดไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนเสร็จเรียบร้อย

ต่างจากเดิมที่ความรับผิดชอบจะสิ้นสุดเมื่อโรงงานผู้รับกำจัดได้รับมอบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการลดขั้นตอนการอนุญาตจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วภายในโรงงาน ที่เน้นให้ผู้ประกอบการรายงานข้อมูลหรือรับรองตนเองเท่าที่จำเป็นผ่านระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ จะใช้การกำกับดูแลร่วมกับการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI)

Advertisement

โดยประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ยกเว้นการส่งรายงานประจำปีเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและของเสียไม่อันตรายของโรงงานผู้ก่อกำเนิด และการจัดส่งรายงานประจำเดือนเกี่ยวกับการจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ของโรงงานผู้รับดำเนินการ ให้มีผลบังคับใช้ทันทีนับถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สาระสำคัญของประกาศฉบับล่าสุด ดังนี้
โรงงานผู้ก่อกำเนิด ยังคงต้องขออนุญาตเป็นรายปี แต่จะอนุญาตให้เป็นรายเดือน โดยระบุประเภทหรือชนิดของเสียและปริมาณที่จะขออนุญาตส่งไปยังผู้รับดำเนินการเพียง 1 รายในแต่ละรายการเท่านั้น หากต้องการส่งไปยังผู้รับดำเนินการหลายราย จะต้องแบ่งปริมาณในแต่ละราย โดยปริมาณรวมกันต้องไม่เกินปริมาณของเสียที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ การทำเอกสารแสดงการจัดการ (Manifest) สำหรับการขนส่งของเสียอันตรายและของเสียที่ไม่เป็นของเสียอันตราย จากเดิม ใช้ 6 ใบ ปรับใหม่ เหลือเพียง 1 ใบ โดยต้องพิมพ์เอกสารแสดงการจัดการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ กรอ. เท่านั้น

โรงงานผู้รับดำเนินการ จะต้องแจ้งรับทั้งของเสียอันตรายและของเสียที่ไม่เป็นของเสียอันตรายเข้ามาจัดการในระบบอิเล็กทรอนิกส์ 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) เมื่อรถขนของเสียมาถึงโรงงาน 2) รับเข้ากระบวนการเมื่อตรวจสอบในเบื้องต้นว่าของเสียเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตและข้อตกลง และ 3) เมื่อจัดการของเสียแล้วเสร็จ พร้อมทั้ง ลงนามในเอกสารแสดงการจัดการ (Manifest) การแจ้งในขั้นตอนที่ 3 จะแสดงถึงภาระความรับผิดของโรงงานผู้ก่อกำเนิดที่จะสิ้นสุดลงเช่นกันเมื่อของเสียได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จตามกระบวนการที่โรงงานผู้รับดำเนินการได้รับอนุญาต

Advertisement

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image