เอกชนจี้ กกพ. รื้อค่าไฟ ใช้ฐานมี.ค.ได้ 4.40 บาท อึ้งรัฐทิ้งทวนเร่งซื้อไฟแม้โดนฟ้องศาล

เอกชนจี้ กกพ. รื้อค่าไฟ ใช้ฐานมี.ค.ได้ 4.40 บาท อึ้งรัฐทิ้งทวนเร่งซื้อไฟแม้โดนฟ้องศาล ขอทีมศก.บริหารพลังงานเก่งๆ ช่วยปปช.

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวถึงมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เคาะอัตราค่าไฟงวด พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 อัตรา 4.77 บาทต่อหน่วย เป็นอัตราเดียวทั้งครัวเรือนและเอกชน มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม ว่า ค่าไฟอัตราดังกล่าวถือว่าสูงเกินไป เอกชนมีคำถาม ทั้งที่สามารถลงได้เหลือระดับ 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นระดับที่ประชาชนจ่ายอยู่ในงวดเดือนมกราคม-เมษายน2566 ทั้งนี้สาเหตุที่ค่าไฟยังสูงมาจากสมมติฐานการคำนวณค่าไฟฟ้าของกกพ.ที่ไม่ตอบโจทย์ ไม่ควรใช้ช่วงเดือนมกราคม 2566 แต่ควรใช้ช่วงเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งราคาพลังงานลดลงมากที่สุดเทียบกัน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ตลาดจร เพียง 13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่กกพ.ใช้ราคาเดือนมกราคม 2566 ซึ่งอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู หากคำนวณจากฐานเดือนมีนาคม2566 ค่าไฟจะอยู่ที่ 4.40 บาทเท่านั้น

“ค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม เป็นช่วงต้นทุนพลังงานของโลกต่ำลง รวมค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากการชะลอขึ้นของดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แต่ภาครัฐกลับเลือกใช้สมมติฐานตัวเลขของเดือนมกราคม 2566 ที่ไม่อัพเดตกับภาวะขาลง ทำให้คนไทยต้องรับตัวเลขค่าไฟฟ้าที่สูงเกินจริง อยากถามว่าทำเพื่ออะไร ใครได้ประโยชน์ นอกจากนี้อยากให้ปรับวิธีการคำนวณต่องวดเหลือ 2 เดือน เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟแม่นยำมากขึ้น”นายอิศเรศกล่าว

ล่าสุดรัฐบาลช่วงปลายเทอมยังเร่งรัดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนเพิ่ม ทั้งไฟฟ้าสีเขียว จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ และส่วนเพิ่ม 3,668 เมกะวัตต์ แบบเร่งรีบ ทั้งที่กำลังมีเอกชนหลายรายยื่นฟ้องขอการคุ้มครองจากศาลปกครองเนื่องจากกระบวนการคัดเลือกที่น่ากังขา นอกจากนี้ยังเพิ่มโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ประเทศไทยยังมีการผลิตของโรงไฟฟ้ามากกว่าความต้องการกว่า 50%

Advertisement

อีกประเด็นคือปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบาย ปัจจุบันกลับไม่มีใครพูดถึงทางออกใด ทั้งที่มีปัญหาต้นทุนสูงของค่าไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น ค่าพร้อมจ่าย ต้นทุนแฝงอื่นๆ จากภาวะสำรองไฟฟ้าล้นกว่า 50% นอกจากนี้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังเหลือเพียง 30% ขณะที่สัดส่วนของเอกชน รวมการนำเข้าสูงถึง 70% นอกจากนี้การจัดสรรก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจี) ในอ่าวไทยและอื่นๆ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ ควรเหมาะสม เป็นธรรม ระหว่างภาคปิโตรเคมีกับไฟฟ้า รวมทั้งควรมีการแข่งขันเสรีในระบบโลจิสติกส์ของไฟฟ้าและเอ็นจีเพื่อลดการผูกขาด

ปัจจุบันผลประโยชน์เรื่องค่าไฟฟ้า สามารถสรุปได้ว่าประชาชนคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง ขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนหลายรายต่างมีผลประกอบการที่มีกำไร และเติบโตกันถ้วนหน้าท่ามกลางสถานการณ์ กฟผ. รัฐวิสาหกิจหลักในการดูแลไฟฟ้าของประเทศ เหลือสัดส่วนเพียง 30% และแบกภาระหนี้ร่วม 1 แสนล้านบาทจากการอุ้มกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล เวลานี้จึงอยากฝากการบ้านถึงทีมบริหารเศรษฐกิจที่เก่งๆ ของแต่ละพรรคการเมืองให้ช่วยหาทางออกให้ประชาชนคนไทยด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image