เอกชน ‘ค้าน’ รีดภาษีความหวาน ชี้สูตรก็ปรับแล้ว หวั่นเสียตลาดส่งออกเหตุลูกค้าติดรสชาติ

ภาษีความหวาน

เอกชนค้านรีดภาษีหวาน หอค้าเตือนเสียตลาดส่งออกจากลูกค้าติดรสชาติแล้ว ส่วน สอท. ชงเลื่อน 1 ปี จับตาสต๊อกหมด ผู้บริโภคกิน-ดื่มแพงขึ้น

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สอท.และผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม จะหารือกับกรมสรรพสามิตเพื่ออธิบายถึงสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเต็มที่และยังมีปัจจัยภายนอกกดดันกำลังซื้อและส่งออก การปรับอะไรก็ตามที่มีผลต่อต้นทุนย่อมเป็นภาระธุรกิจ และระยะยาวอาจกระทบถึงผู้บริโภคโดยปรับราคาสินค้า จึงอยากให้มีการเลื่อนบังคับใช้ภาษีความหวานไปอีก 1 ปี

“ธุรกิจพร้อมให้ความร่วมมือภาครัฐ แต่สถานการณ์ตอนนี้ไม่เอื้อ อีกทั้งคนไทยและทั่วโลกมีการลดกินหวานหรือปรับใช้สารแทนความหวานกันมากขึ้น คนผลิตก็ต้องปรับสูตรตาม ซึ่งวันนี้การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีความหวานแบบเดิมประมาณ 10%

ขณะที่สินค้าไทยรสชาติเดิมยังส่งออกและมีความต้องการเกิน 50% อาจได้รับผลกระทบด้วย เพราะความหวานก็มีผลต่อความเจริญอาหาร แม้ในญี่ปุ่น อาหารผู้สูงวัยยังมีความหวาน เพียงแต่คุมในอัตราที่เหมาะสมกับวัย”

Advertisement

สำหรับในประเทศ อัตราเก็บค่อนข้างสูง ที่ต้องจับตาคือ เมื่อสต๊อกเดิมที่ปกติมี 3-6 เดือน หมดลงแล้ว ต้นทุนจากภาษีที่ต้องแบกรับ อาจผลักไปผู้ซื้อได้ ส่วนอัตราจะไม่เท่ากัน ดังนั้น เอกชนจึงไม่เห็นด้วยจะเก็บภาษีไม่ว่าจะความหวานหรือความเค็ม

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้กรมสรรพสามิตจะเริ่มปรับขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล เข้าสู่ระยะที่สาม หลังจากที่รัฐบาลได้ชะลอการปรับขึ้นอัตราภาษีดังกล่าวเข้าสู่เฟสที่สามเป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้สิ้นสุดลงนั้น

กรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลมอยู่แล้ว แต่ได้เพิ่มภาษีความหวาน สำหรับเครื่องดื่ม โดยคิดตามปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มนั้นๆ ยังพบว่าเครื่องดื่มที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 200 กว่ารายการ

Advertisement

ล่าสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพิ่มเป็น 1,800 รายการ หรือเพิ่มมากกว่าเดิม 9 เท่าตัว เพราะฉะนั้น จึงเชื่อว่าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยกว่า 6 กรัมกำลังมีมากขึ้น มาตรการเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้บริโภคใส่ใจโภชนาการมากขึ้น

ซึ่งการส่งออกสินค้าเครื่องดื่มปี 2566 เดือนมกราคม 2565 เครื่องดื่มมีมูลค่าส่งออก 68,781 ล้านบาท เติบโต 13.5% ปี 2566 เดือนมกราคม เครื่องดื่มมีมูลค่าส่งออก 4,999 ล้านบาท หดตัว -8%

“ภาคเอกชนยินดีจะร่วมมือกับรัฐบาล เครือข่ายสุขภาพและองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการช่วยให้คนไทยมีสุขภาพดี ลดการบริโภค อาหารหวาน มัน เค็ม ที่ทำให้เป็นบ่อเกิดหลายโรค สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ตระหนักรู้ว่าควรบริโภคอาหารอย่างไรที่จะไม่เป็นพิษภัยต่อตัวเอง เนื่องจากการรับประทานกลุ่มหวานมันเค็ม นอกจากจะอยู่ในกลุ่มอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มที่เป็นสินค้าแล้ว ผู้บริโภคอาจเลือกไปรับประทานในร้านอาหารแทนได้เช่นกัน ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจจึงสำคัญที่สุด”

การวางนโยบายการจัดเก็บภาษีนั้นควรให้เหมาะสมกับบริบทของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากปัจจุบันมีความท้าทาย เช่น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงบริบทของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดโครงสร้างภาษีที่ตอบโจทย์การแข่งขัน โดยอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีการปรับตัวอย่างมาก ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทยอยปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม มีการปรับราคา ปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ รวมถึงแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีน้ำตาลน้อย หรือไม่มีน้ำตาลออกมามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการบังคับใช้ภาษีความหวานเฟส 3 ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งมีอัตราภาษีเพิ่มขึ้นไปถึง 3 เท่าจากอัตราภาษีในปัจจุบัน แม้ว่ากรมสรรพสามิตได้ช่วยขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไป 1 ปี เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดค่อนข้างมากแล้ว แต่หากมีผลบังคับใช้จริง ผู้ประกอบการจะต้องรับภาระภาษีเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีความกังวลและความท้าทายอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารอย่างแน่นอน

จึงเสนอขอเลื่อนขยายเวลาการปรับขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล เนื่องจากปัจจุบันเกิดภัยแล้ง วัตถุดิบหลายตัวมีการปรับขึ้นราคา อีกทั้งที่ผ่านมามีการปรับขึ้นต้นทุนในหลายด้าน ทั้งค่าแรง น้ำตาล ค่าไฟฟ้า ซึ่งกระทบด้านต้นทุนการผลิตและอาจกระทบต่อราคาสินค้า อีกทั้งการปรับขึ้นราคาแก่คู่ค้าและผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

จึงขอให้เลื่อนการปรับขึ้น เนื่องจากมีความท้าทายในหลายด้าน เทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลต่อการปรับสูตรสินค้า ดังนั้น มาตรการที่ออกมาไม่ควรลดความสามารถการแข่งขันในต่างประเทศ

ดังนั้น อัตราภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มในเฟสที่สาม ซึ่งจะสูงขึ้นกว่าเฟสที่หนึ่งและสอง จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป อัตราภาษีความหวานได้ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว หากผู้ประกอบการรายใดไม่ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิต โดยลดส่วนผสมจากน้ำตาลลงจะทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เป้าหมายการดำเนินการจัดเก็บภาษีค่าความหวานดังกล่าวเพื่อต้องการดูแลสุขภาพของไทยให้ห่างไกลจากโรคอ้วน เบาหวาน และความดัน

สำหรับภาษีความหวานจะมีการปรับขึ้นเป็นอัตราก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทุกๆ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.66 จะจัดเก็บภาษีความหวาน ระยะที่ 3 มีรายละเอียด ดังนี้

  • ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร

ส่วนระยะที่ 4 จะจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.68 เป็นต้นไป รายละเอียดการจัดเก็บอยู่ระหว่างพิจารณา
สินค้าที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิต จากปริมาณน้ำตาล 2 กลุ่ม

1.เครื่องดื่ม
2.ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เครื่องดื่มที่มีลักษณะเป็นผง เกล็ด หรือเครื่องดื่มเข้มข้นที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและสามารถละลายน้ำได้

  • ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคือ ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้นำเข้า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image