‘พลังงาน’ แจงสำรองไฟฟ้าไทยไม่สูงเกินจริง วอนการเมืองอย่าบิดเบือนข้อมูลใช้หาเสียง

‘กระทรวงพลังงาน’ แจงสำรองไฟฟ้าไทยไม่ได้สูงเกินจริง แต่สอดคล้องกับมาตรฐานของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ห่วงข้อมูลที่ออกมาบิดเบือนสร้างความสับสน วอนนักการเมืองอย่าใช้นโยบายพลังงานมาขายฝันมากเกินไป ห่วงสร้างภาระการคลัง หวั่นทำไม่ได้จริงทำประชาชนผิดหวัง ประเทศเสียหาย

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ขณะนี้หลายพรรคการเมืองออกมาหาเสียงด้วยนโยบายพลังงาน โดยมีการพูดถึง ราคาค่าไฟฟ้า และ ปริมาณสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin) ของประเทศไทย โดยให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความจริง ว่าเรื่องนี้กระทรวงพลังงานมีความเป็นห่วงว่าข้อมูลที่ออกมาจากพรรคการเมืองที่สื่อสารออกมาถึงประชาชนมีความเข้าใจผิดที่คลาดเคลื่อนและไม่ตรงตามหลักวิชาการในหลายส่วน ซึ่งเมื่อข้อมูลเหล่านี้ออกไปทำให้สร้างความเข้าใจผิดกับประชาชนและสังคมเป็นวงกว้าง

โดยเฉพาะในเรื่องของปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่มีการให้ข่าวที่บิดเบือนว่าประเทศไทยมีปริมาณการสำรองไฟฟ้ามากถึง 50-60% และเป็นต้นเหตุทำให้ค่าไฟแพงนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปริมาณการสำรองไฟฟ้าของไทยนั้นในปัจจุบันถือว่าไม่ได้สูงมากเกินไป อยู่ที่ประมาณ 36% ใกล้เคียงกับมาตรฐานที่ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้กำหนดไว้ที่ 20-35% ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ โดยในอนาคตปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยจะค่อยๆ ลดลงจนเหลือ 15% ในปี 2568 ตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการใช้ไฟฟ้าสะอาดที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ เมื่ออธิบายการคำนวณปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่เหมาะสม ต้องคำนวณจากหลายส่วนด้วยกัน ได้แก่

Advertisement

1.กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ได้จริง หรือค่ากำลังผลิตพึ่งได้ (Dependable Capacity) ไม่ใช่พิจารณาจากกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา (Contract Capacity) เพราะปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าบางส่วนที่มาจากพลังงานทดแทน ซึ่งไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงไม่สามารถประเมินโดยใช้ยอดกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดได้

2.ต้องคำนวณจากการใช้ไฟฟ้าที่แท้จริง ซึ่งในการประเมินจะใช้ตัวปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) สูตรการคำนวณคือ กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ได้จริง ลบด้วย ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และหารด้วย ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด จากนั้นจึงคูณด้วย 100 จะออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์อัตราการผลิตไฟฟ้าสำรอง

เมื่อคำนวณจากตัวเลขจริงการใช้ไฟฟ้าในปี 2565 ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 52,566 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ได้จริง 45,255 เมกะวัตต์ และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 33,177 เมกะวัตต์

Advertisement

ดังนั้น การคำนวณที่ถูกต้องคือ นำกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ได้จริง มาคิด 45,255 ลบด้วย 33,177 ได้ 12,078 หารด้วย 33,177 เหลือ 0.364 แล้วคูณด้วย 100 จะได้ 36.4% จะเห็นได้ว่าการอ้างตัวเลขการสำรองไฟฟ้า 50-60% มาจากการนำกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญามาคำนวณ 52,566 ลบด้วย 33,177 ได้ 19,389 หารด้วย 33,177 เหลือ 0.584 แล้วคูณด้วย 100 ได้ 58.4% ซึ่งการอ้างตัวเลขนี้มาจากการคำนวณที่ไม่ถูกหลัก ไม่สะท้อนอัตราการสำรองไฟฟ้าที่แท้จริงของประเทศ

“ปริมาณการสำรองไฟฟ้าของประเทศไทยคำนวณด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้วจะได้ประมาณ 36% ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับมาตรฐานตามกำหนดสำรองไฟฟ้าของ IEA นอกจากนั้นปริมาณการสำรองไฟฟ้าของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ จนถึงในปี 2568 ก็จะลดลงเหลือ 15% ตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการใช้ไฟฟ้าสะอาดที่จะเพิ่มขึ้น

“เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ต้องใช้ข้อมูลและหลักการทางวิชาการมาคำนวณอย่างรอบคอบ ขอให้คนที่พูดถึงปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศที่สูงเกินจริงแล้วเอามาโยงกับการขึ้นราคาค่าไฟไปหาข้อมูลที่ถูกต้องเสียก่อน ไม่อย่างนั้นจะสร้างความสับสนให้ประชาชนในวงกว้าง” เลขาฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระบุ

สำหรับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีการประกาศอัตราค่าไฟฟ้าในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 อยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วยนั้น กระทรวงพลังงานขอชี้แจงว่าการคิดค่าไฟฟ้าในประเทศไทยมีการทำในรูปแบบของคณะกรรมการที่เป็นหน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับของรัฐ คือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นหน่วยงานที่ดูแลในส่วนนี้ และการคิดค่าไฟฟ้าโดย กกพ.มีการพิจารณาจากองค์ประกอบที่เป็นต้นทุนของค่าไฟเพื่อนำมาใช้ในการคำนวณไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) โดยปัจจุบันค่าเอฟทีอยู่ที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย และค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย

กกพ.ได้คิดตามสูตรค่าไฟฟ้าที่มีการพิจารณาปัจจัยหลายด้านโดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก อัตราแลกเปลี่ยน และการชำระหนี้คืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้รับภาระในปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ในช่วงที่ผ่านมาราคา Spot LNG ยังอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวนกว่าในช่วงเวลาปกติ อีกทั้งไทยมีปัญหาความไม่ต่อเนื่องในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานก๊าซธรรมชาติ ทำให้ปริมาณการผลิตในช่วงแรกลดลง ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซ LNG มาผลิตไฟฟ้ามากขึ้นด้วย ทำให้ราคาค่าไฟฟ้ายังสูงจากปัจจัยภายนอก

“เรื่องราคาพลังงานมีปัจจัยภายนอกมาเกี่ยวข้องมาก ซึ่งการปรับลดค่าไฟฟ้านั้นที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้มีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะมีการแข่งขันกันมากในหลายนโยบายโดยเฉพาะนโยบายพลังงาน แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ให้สร้างภาระทางการคลังมากเกินไป

“จึงวอนขอว่าพรรคการเมืองอย่านำนโยบายลดราคาพลังงานที่เกินจริงมาหาเสียง เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพลังงาน และวินัยการเงินการคลังในอนาคต ซึ่งสร้างผลเสียกับประเทศในระยะยาว” ศ.ดร.พิสุทธิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image