คิดเห็นแชร์ : จับตาส่งออก‘ทุเรียนไทย’ในตลาดจีน

คิดเห็นแชร์ : จับตาส่งออก‘ทุเรียนไทย’ในตลาดจีน

ปริมาณผลผลิตการเกษตรปีนี้ โดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทุเรียนเป็นอีกหนึ่งในสินค้าเกษตร

ที่คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตสูงถึง 1,483,837 ตัน ขยายตัวจากปีที่ผ่านมา 18.51% แบ่งเป็น (1) ทุเรียนภาคตะวันออก 756,465 ตัน (ขยายตัว 3.30% YoY) (2) ทุเรียนภาคใต้ 637,072 ตัน (ขยายตัว 44.01% YoY) และ (3) ทุเรียน

ภาคอื่นๆ 90,300 ตัน (ขยายตัว 16.73% YoY) ซึ่งภาคตะวันออกมีผลผลิตสูงสุด และจะออกในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ขณะที่ภาคใต้ผลผลิตขยายตัวสูงสุด และจะออกช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม โดยปริมาณผลผลิตทุเรียนที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ สาเหตุมาจากการปรับเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนแทนยางพาราและพืชอื่นๆ เมื่อปี 2561 และเริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมาทุเรียนมีราคาดีต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก

Advertisement

สำหรับการส่งออกทุเรียนสด (พิกัดศุลกากร 081060) ในปี 2565 การส่งออกสินค้าทุเรียนสดของไทยหดตัวทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า โดยมีปริมาณการส่งออก 827,090.17 ตัน หดตัว 5.49% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีมูลค่า 3,219.42 ล้านเหรียญสหรัฐ (110,144.22 ล้านบาท) หดตัว 7.73% ตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่

(1) จีน (สัดส่วนมูลค่า 96.2% หดตัว 1.29%) (2) ฮ่องกง (สัดส่วนมูลค่า 2.6% หดตัว 56.89%) และ (3) ไต้หวัน (สัดส่วนมูลค่า 0.3% ขยายตัว 17.84%) การส่งออกหดตัว เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักมีนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) มีการเปิด-ปิดด่านชายแดนเป็นระยะ อย่างไรก็ดี เมื่อปลายปี 2565 จีนเริ่มผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ จึงช่วยผลักดันการส่งออกในช่วงปลายปีได้

สำหรับปี 2566 ในช่วง 2 เดือนแรกนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์) การส่งออกทุเรียนสดของไทย ขยายตัวทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า มีปริมาณการส่งออก 34,716.84 ตัน ขยายตัว 241.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 163.14 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,464.25 ล้านบาท) ขยายตัว 199.87% โดยส่งออกไปจีนเป็นมูลค่า 162.35 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,438.15 ล้านบาท) ขยายตัว 208.47% และคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 99.52% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดทั้งหมดของไทย และมีปริมาณ 34,589.13 ตัน ขยายตัว 249.44% ทั้งนี้ การส่งออกทุเรียนสดของไทยช่วงต้นปีจะยังมีปริมาณไม่มากนัก ที่ผ่านมา ไทยส่งออกมากที่สุดในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของปริมาณการส่งออกทุเรียนสดทั้งปี

Advertisement

หากพิจารณาการนำเข้าทุเรียนสดของจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย พบว่าในปี 2565 จีนนำเข้าทุเรียนสดเป็นมูลค่า 4,032.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 มีมูลค่า 3,843.99 ล้านเหรียญสหรัฐ (95.3% ของมูลค่าที่จีนนำเข้า) และเวียดนามเป็นอันดับ 2 มีมูลค่า 188.09 ล้านเหรียญสหรัฐ (4.7% ของมูลค่าที่จีนนำเข้า) ในแง่ปริมาณ จีนนำเข้าทุเรียนสดเป็นปริมาณ 824,459.78 ตัน แบ่งเป็นการนำเข้าจากไทย 783,581.15 ตัน (95.0% ของปริมาณที่จีนนำเข้า) และนำเข้าจากเวียดนาม 40,878.63 ตัน (5.2% ของปริมาณที่จีนนำเข้า) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาราคานำเข้าต่อหน่วย (Imported Unit Value) ราคาต่อหน่วยที่จีนนำเข้าจากไทย อยู่ที่ 4.91 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม สูงกว่าราคาต่อหน่วยที่จีนนำเข้าจากเวียดนาม ซึ่งอยู่ที่ 4.60 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม (ที่มา: Global Trade Atlas)

เดิมไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่สามารถส่งออกทุเรียนสดไปตลาดจีน แต่ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) ได้อนุญาตให้เวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนไปจีน ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากไทย ที่สามารถส่งออกทุเรียนสดไปตลาดจีน โดยเวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนกันยายนของปี 2565 นอกจากนี้ ยังมีคู่แข่งอย่างฟิลิปปินส์ ซึ่งเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 GACC ได้ประกาศอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากฟิลิปปินส์แล้ว จึงนับเป็นประเทศที่ 3 ที่จีนอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดได้ และฟิลิปปินส์ได้ประกาศเป็นทางการว่าพร้อมส่งออกทุเรียนสดล็อตแรกไปจีน เป็นปริมาณ 7,500 ตัน ในช่วงเดือนมีนาคมปีนี้

ทั้งนี้ เวียดนามและฟิลิปปินส์มีจุดแข็งแตกต่างกัน เวียดนามมีการปลูกทุเรียนพันธุ์ไทยและสายพันธุ์ท้องถิ่น มีข้อได้เปรียบสำคัญ คือ มีระยะทางการขนส่งไปจีนที่ใกล้กว่าไทย อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย สำหรับตลาดส่งออกหลักของเวียดนาม คือ จีน (ในปี 2565 มีสัดส่วน 57.85% ของมูลค่าที่เวียดนามส่งออก) ฮ่องกง (สัดส่วน 13.92%) และไต้หวัน (สัดส่วน 10.37%) สำหรับทุเรียนฟิลิปปินส์ถือเป็นแบรนด์ใหม่สำหรับผู้บริโภคชาวจีน ทุเรียนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากเมืองดาเวา มีจุดเด่นด้านผลผลิตสูงและทนทานต่อศัตรูพืช ตลาดส่งออกหลักของฟิลิปปินส์ คือ ญี่ปุ่น (สัดส่วน 56.23% ของมูลค่าที่ฟิลิปปินส์ส่งออก) ฮ่องกง (สัดส่วน 25.73%) และสิงคโปร์ (สัดส่วน 9.35%) ตามลำดับ

รวมทั้งจีนเองก็มีการปลูกทุเรียนในประเทศ แม้ว่ายังมีปริมาณผลผลิตน้อย แต่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ปัจจุบันจีนยังมีความต้องการนำเข้าทุเรียนสดจากต่างประเทศ ดังนั้น เพื่อให้ทุเรียนไทยสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีนที่มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น เกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ต้องร่วมมือและบูรณาการการทำงาน เพื่อรักษาระดับมาตรฐานสินค้า ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพทุเรียน ประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ทุเรียนไทย ค้นหาความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนเชิงลึกเป็นรายมณฑลหรือเมือง เพื่อพัฒนาทุเรียนไทยให้ตรงกับความต้องการของตลาดจีน

สำหรับการบริหารจัดการสินค้าทุเรียน กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2566 เพื่อรองรับปริมาณผลผลิตของผลไม้ปี 2566 ที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดรวมปริมาณ 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็นมาตรการ 4 ด้าน รวม 22 มาตรการ ได้แก่ (1) ด้านการผลิต โดยเร่งตรวจรับรองแปลงเกษตรมาตรฐาน GAP (2) ด้านตลาดในประเทศ อาทิ กระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต การเปิดจุดจำหน่ายในราคาพิเศษ และการรณรงค์บริโภคผลไม้ (3) ด้านตลาดต่างประเทศ อาทิ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย และ (4) ด้านกฎหมาย ซึ่งจะบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการตลาดในประเทศ เพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออกผลไม้สดและแปรรูปไปยังตลาดต่างประเทศ รวมทั้งดูแลให้ผลไม้มีราคาดีตลอดฤดูกาล

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image