“สดช.”เตรียมตั้งสำนักงานกิจการอวกาศ หนุนเศรษฐกิจอวกาศ โต 3 แสนล้านใน 10 ปี
เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า สดช. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการจัดทำนโยบายด้านกิจการอวกาศของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมระบบนิเวศของเศรษฐกิจอวกาศที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมอวกาศ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับกิจการและกิจกรรมอวกาศ เช่น ดาวเทียมสถานีภาคพื้นดิน ศูนย์การเรียนรู้ วิจัย และพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดทำร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างแผนแม่บทกิจการอวกาศแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๘๐)
ตลอดจนการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ และการสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศ สำหรับกิจการอวกาศของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในระยะเริ่มแรกหลังจากการเปลี่ยนผ่านจากระบบการให้สัมปทานเป็นระบบการอนุญาต
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดนโยบาย หรือทิศทางในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจการหรือกิจกรรมอวกาศให้มีความชัดเจน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจอวกาศที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขันด้านอวกาศของตลาดโลกได้
นายภุชพงค์กล่าวว่า เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศเสร็จสมบูรณ์ ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ก่อน จากนั้นสำนักงานใหม่ที่จะมากำกับดูแลกิจการอวกาศนี้ จะมีสถานะเป็นหน่วยงานนิติบุคคลเฉพาะ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ จึงต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาชุดใหม่ (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) เพื่อพิจารณาก่อน
โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ จิสด้า เป็นหน่วยงานหลักในการตั้งสำนักงานใหม่ และตัดโอนภารกิจจากส่วนราชการอื่น เช่น กองกิจการอวกาศแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ให้อยู่ในร่มเดียวกัน
เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของภาครัฐให้เป็นเอกภาพและเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอวกาศจะสร้างรายได้ให้ประเทศไทย 3 แสนล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ในอนาคตเรื่องของดาวเทียมขนาดกลางและขนาดเล็กแบบไม่ประจำที่จะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางดิจิทัล ดาวเทียมไม่ใช่เพียงแค่การสื่อสารหรือถ่ายทอดสัญญาณอีกต่อไป
“ดาวเทียมสามารถทำงานด้านการสำรวจ ให้บริการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ที่ไฟเบอร์ไปไม่ถึง ซึ่งความสามารถนี้จะทำให้กลายเป็น New S-Curve หรืออุตสาหกรรมอนาคตของประเทศไทย” นายภุชพงค์กล่าว