‘ททท.’ ควง ‘มิชลิน ไกด์’ เปิดตัวสุราษฎร์ฯ-เกาะสมุยเพิ่ม ดันใช้จ่ายค่าอาหาร 5.95 แสนลบ.

‘ททท.’ ควง ‘มิชลิน ไกด์’ เปิดตัวสุราษฎร์ฯ-เกาะสมุยเพิ่ม ดันใช้จ่ายค่าอาหาร 5.95 แสนลบ.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ปี 2566 ททท.ตั้งเป้าหมายรายได้ทางการท่องเที่ยวไว้ที่ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของค่าใช้จ่าย จะเป็นการใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่ใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ประมาณ 595,000 ล้านบาท โดยการร่วมกับมิชลิน ไกด์ เพื่อดำเนินการจัดทำ มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย จะสามารถเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวประมาณ 10-20% สอดคล้องตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 3 (ปี 2566-2570) ที่ตั้งเป้าว่า จะต้องเพิ่มการใช้จ่ายเฉลี่ยของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 5% และ 7% ตามลำดับ

นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย เตรียมขยายขอบเขตใหม่ไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี กับเกาะสมุย ในปี 2567 ซึ่งมีกำหนดจะเปิดตัวในไตรมาส 4/2566 เพื่อตอกย้ำความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของอาหารไทยให้ทั่วโลกได้รับรู้ โดยในปี 2565 มีรายได้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารจากมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย อยู่ที่ 223.34 ล้านบาท ประเมินจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 23 ประเทศเป้าหมายที่เดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งปี 2565 จำนวน 11.15 ล้านราย

นายฉัททันต์ กล่าวว่า ททท.สำรวจนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 23 ประเทศเป้าหมาย ปี 2565 พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ 76% ของกลุ่มตัวอย่าง รับรู้ถึงโครงการมิชลิน ไกด์ ทั่วโลก และ 16% ของกลุ่มตัวอย่าง รับรู้ถึงมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จากทั้งหมด 11.15 ล้านคน ในจำนวนนี้ สัดส่วน 8% หรือประมาณ 0.69 ล้านคน รับรู้และได้ลองรับประทานอาหารในร้านอาหารมิชลินในไทยแล้ว ส่วนอีก 11% หรือประมาณ 0.94 ล้านคน เดินทางมาไทยเนื่องจากได้ระบอิทธิพล โดยมีการใช้จ่ายเพิ่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประมาณ 325 บาทต่อคนต่อทริป จากการรับประทานอาหาร ซึ่งประเมินว่ามีความคุ้มค่าของโครงการ เทียบกับเงินลงทุนต่อนักท่องเที่ยวหนึ่งคน อยู่ที่ 7.98 เท่า

นายฉัททันต์ กล่าวว่า การมีมิชลิน ไกด์ ถือเป็นการยกระดับอาหารไทยในแง่ของความมีคุณภาพ และได้มาตรฐานมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา ก็มีความเชื่อมั่นในร้านอาหารที่ได้รับการการันตีจากมิชลิน เพราะมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว เนื่องจากมิชลิน ไกด์ เป็นมาตรฐานของร้านอาหารที่มีทั่วโลก เป็นสากล ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในการประเมินคุณสมบัติที่เหมาะสม ได้แก่ 1.คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ 2.ความโดดเด่นของรสชาติและเทคนิคการรังสรรค์อาหาร 3.เอกลักษณ์เฉพาะตัวของเชฟที่นำเสนอผ่านมื้ออาหาร 4.ความคุ้มค่าสมราคา และ 5.ความคงที่ของประสบการณ์ในการทานต่างวาระกัน

ADVERTISMENT

“การมีร้านอาหาสตรีทฟู๊ด อย่างร้านเจ๊ไฝ ที่ได้เข้าร่วมในการแนะนำระดับมิชลินด้วย ทำให้มีหลายร้านอาหารในระดับเดียวกัน ใช้ร้านเจ๊ไฝเป็นต้นแบบในการพัฒนา เพื่อไปสู่มิชลิน 1 ดาว (Micheline Star) ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตเราจะได้เห็นร้านอาหารสตรีทฟู๊ดถูกแนะนำในมิชลินมากขึ้น” นายฉัททันต์ กล่าว

นายฉัททันต์ กล่าวว่า ผลที่ได้รับจากโครงการมิชลินไกด์ไทยแลนด์ ในแง่ของผู้ประกอบการร้านอาหาร คือ 1.การเพิ่มขึ้นของรายได้และจำนวนลูกค้าของร้านอาหาร โดยมีผู้ประกอบการระบุว่า รายได้เพิ่มขึ้น 10-200% ส่วนใหญ่อยู่ที่ 30-40% บางร้านก็มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด 2.สามารถช่วยให้ร้านอาหารประคับประคองในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีหรือในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำ 3.การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างลูกค้าของร้านอาหาร จำนวนของลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 4.เป็นแรงผลักดัน สร้างกำลังใจและความภูมิใจให้กับองค์กร 5.ส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านอาหารในหลากหลายระดับ 6.ได้รับการประชาสัมพันธ์จากสื่อที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ 7.ยกระดับมาตรฐานอาหารไทยรวมถึงห่วงโซ่อุปทาน และ 8.กระจายรายได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image