‘ชาวนา’จ่อชง รบ.ใหม่ 3 ข้อ แก้น้ำ-ลดต้นทุน-พันธุ์ข้าว ซัดนโยบายหาเสียงเพ้อฝัน
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวถึงนโยบายพรรคการเมืองว่า ให้ความสำคัญกับดูแลเกษตรกรและภาคการเกษตรค่อนข้างน้อย ทั้งที่ชาวนาไทยมีถึง 4.5 ล้านครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 62-63 ล้านไร่ มีผู้เกี่ยวข้องกว่า 30 ล้านคน ถือเป็นฐานใหญ่มีผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้ง ขณะที่นโยบายด้านนี้ค่อนข้างเพ้อฝัน ไม่รู้ว่าประโยชน์จะตกมาถึงเกษตรกร ชาวนาแค่ไหน ซึ่งสมาคมได้เตรียมปัญหาและข้อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่โดยเน้น 3 เรื่องคือ 1.ปัญหาน้ำจะมีมากขึ้นในอนาคต ต้องสร้างแหล่งเก็บน้ำธรรมชาติและสาธารณะเพิ่มทั่วประเทศ
2.ลดต้นทุน ทั้งปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อีก 0.25% ซึ่งชาวนากว่า 90% กู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำให้สร้างปัญหาด้านหนี้สินให้ชาวนามากขึ้น 3.พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ที่ตรงกับความต้องการบริโภคและระยะเวลาปลูกไม่เกิน 95-100 วัน จากตอนนี้ใช้เวลา 130-140 วันจึงเก็บเกี่ยวได้ หรือข้าวพื้นนุ่มที่ตลาดต้องการมากขึ้น
“ไม่ได้มองว่าพรรคใดจะจัดตั้งรัฐบาล เชียร์ทุกพรรคที่สนับสนุนและดูแลชาวนา หากรัฐบาลไม่ดูแลและไม่เข้าใจถึงปัญหาแท้จริง ระบบข้าวไทยจะเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องลูกหลานชาวนาเมื่อจบการศึกษาจะหันไปทำงานด้านอื่น ไม่สืบทอดอาชีพชาวนา บางส่วนเจอหนี้สะสมต้องขายที่ดิน กลายเป็นผู้เช่าแทน ตอนนี้นายทุนใหญ่กว้านซื้อที่ดินและจ้างชาวนาปลูกข้าว ไม่รู้ว่ารัฐบาลใดจะมาดูระบบอาชีพชาวนา ไม่ต้องพูดเรื่องทุนต่างชาติ อย่างทุนจีนก็ไม่อาจเดาได้ว่ามาแล้วเหมือนกับกลุ่มท่องเที่ยวหรืออสังหาฯที่เจอกันอยู่” นายปราโมทย์กล่าว
ขณะที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า นโยบายแรงงานของแต่ละพรรคการเมืองใช้หาเสียงด้วยการขึ้นค่าแรงไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาแรงงานจบใหม่ในปี 2566 มีจำนวนประมาณ 5.1 แสนคน สูงกว่าปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 4 แสนคน ส่วนใหญ่จะเป็นระดับปริญญา ว่างงานกว่า 40% เหตุที่กลุ่มนี้ว่างงานสูงขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมเปลี่ยนไป เลือกงานมากขึ้น
นายธนิตกล่าวว่า จากผลการศึกษาของสภาแรงงานแห่งชาติสำรวจสถานศึกษากว่า 10 แห่ง พบว่านักเรียน นักศึกษา ซึ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ชอบงานที่มีนายจ้าง ชอบอาชีพงานอิสระ และบางส่วนเมื่อจบแล้วเลือกไม่ทำงาน เลือกจะพักผ่อนอยู่บ้าน และจากผลสำรวจขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าจำนวนเด็กจบใหม่ค้างมากว่า 1-2 ปีแล้ว หรือประมาณ 1.4 ล้านคน และบางส่วนเลือกไปทำงานต่างประเทศผ่านโครงการเวิร์กแอนด์ทราเวล เป็นแนวโน้มของคนรุ่นใหม่