กรมศุลฯ ชี้ซุปเปอร์ซาร่าสำแดงเท็จ -ยอมจ่ายเกือบ 1 พันล้านบาท เพื่อนำรถเอ็นจีวีออกจากท่าเรือ

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงความความคืบหน้ากรณีการนำเข้ารถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) ของ บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่13 ธันวาคม เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรหารือร่วมกับตัวแทนบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ถึงตรวจสอบภาษีนำเข้ารถยนต์เอ็นจีวี และจากการส่งเจ้าหน้าที่ไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อดูเส้นทางการนำเข้า พบรถยนต์ในล็อตแรกที่แจ้งนำเข้า 100 คันนั้น เป็นการนำเข้าจากประเทศจีน โดยมีการบรรทุกรถมาทางเรือไปประเทศมาเลเซีย เมื่อเทียบท่าเรือที่มาเลเซียขับรถยนต์เอ็นจีวีดังกล่าวไปพักยังเขตปลอดอากรเป็นเวลา 7 วัน แล้วจึงขับรถขึ้นเรืออีกครั้งเพื่อส่งนำเข้ามาประเทศไทย ส่วนล็อตที่ 2 จะนำเข้ามาอีก 389 คันนั้น ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ดังนั้นบริษัทต้องเสียภาษีในส่วนของการนำเข้า 489 คันจำนวน 718 ล้านบาท และเสียค่าปรับในส่วนของล็อตแรก 100 คัน ประมาณ 230 ล้านบาท รวมแล้วต้องเสียภาษีรวมค่าปรับประมาณ 948 ล้านบาท

“จากการหารือตัวแทนบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด รับทราบ เอกชนยอมรับว่ามีความเข้าใจที่ผิดพลาดในข้อมูลการนำเข้าจากบริษัทผู้จำหน่ายในมาเลเซีย จึงแถลงข่าวในครั้งแรกตามข้อมูลที่ได้รับ เมื่อรับทราบข้อเท็จจริงแล้ว บริษัทฯ ยินดีปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของกรมศุลกากรทุกประการ ขอเวลา 2-3 วัน เตรียมเงินมาจ่ายภาษีและค่าปรับดังกล่าว ซึ่งหากเอกชนเสียภาษีและค่าปรับ หรือมาวางเงินประกัน กรมศุลกากรพร้อมปล่อยรถออกไปทันทีภายใน 1-2 วัน ทันเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนอย่างแน่นอน”นายกุลิศ กล่าว

นายกุลิศ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว พบว่า บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด นำเข้ารถโดยสารปรับอากาศยี่ห้อ SUNLONG รุ่น SLK6129CNG YEAR 2016 จำนวน 489 คัน ซึ่งได้ทยอยส่งออกจากประเทศมาเลเซีย มายังประเทศไทย จำนวน 5 เที่ยวเรือ เที่ยวละ 1 คัน, 99 คัน, 145 คัน, 146 คัน และอีก 98 คัน อยู่ระหว่างการเดินทางจากมาเลเซียมายังประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 489 คัน แบ่งการดำเนินการของบริษัทฯ เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 (เที่ยวที่ 1 – 2 รวมจำนวน 100 คัน) เป็นกลุ่มที่ผ่านพิธีการศุลกากรและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และกลุ่มที่ 2 (เที่ยวที่ 3 – 5 จำนวน 389 คัน) ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร

นายกุลิศ กล่าวต่อว่า กรมได้ตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้าที่บริษัทในประเทศมาเลเซีย R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD จะส่งรถโดยสารปรับอากาศดังกล่าวมายังประเทศไทย ได้นำเข้ารถโดยสารปรับอากาศชนิดเดียวกันจากประเทศจีน โดย NORINCO NEW ENERGY CO., LTD. ระบุชื่อผู้ซื้อที่มาเลเซีย คือ R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD และพบสินค้านำเข้าเป็นรถยนต์สำเร็จรูป ซึ่งมีจำนวน ราคา และน้ำหนักตรงกันกับที่บริษัท R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD ส่งมายังประเทศไทย มีรายการหมายเลข Chassis หมายเลขเครื่องยนต์ ตรงกัน รวมทั้งแสดงราคาต่อหน่วยและน้ำหนักต่อหน่วย เท่ากัน ดังนั้นใน กรณีกลุ่มที่ 1 จึงเป็นการสำแดงแหล่งกำเนิดเป็นเท็จอันเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากรตามมาตรา 99 , 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ส่วนกรณีกลุ่มที่ 2 ยังไม่ถือว่าเป็นความผิด เนื่องจากผู้นำเข้ายังไม่ได้ยื่นเอกสารการนำเข้าต่อเจ้าหน้าที่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image