ม.หอค้าชี้ไทยทุกเจน ติดเทคโนโลยีดิจิทัล เกาะสนามเลือกตั้ง

ม.หอการค้าชี้คนไทยทุกเจนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพุ่ง พร้อมเห็นปชช.ติดตามเลือกตั้งมากขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การสำรวจในหัวข้อ “Digital Marketing และ Digital Economy แรงกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง” แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ภาคประชาชน 1,227 ตัวอย่าง สำรวจระหว่างวันที่ 8-18 เมษายน 2566 โดยพบว่า คนทุกวันสนใจเรื่องดิจิทัล ทั้งเจนเบบี้บูมเมอร์ อายุระหว่าง 55-72 ปี เจนเอ็กซ์ 40-54 ปี เจนวาย 25-39 ปี และเจนซี 10-24 ปี เพียงแต่เจนวายและเจนซี มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่าช่วยวัยอื่น รวมถึงระบบเศรษฐกิจโลกได้สะท้อนถึงกลุ่มคนที่มีอำนาจซื้อและใช้จ่ายมากที่สุดเป็นเจนวายด้วย ทำให้ในอนาคตคนเจนวายและเจนซีจะเป็นกลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกและธุรกิจ สะท้อนถึงเศรษฐกิจดิจิทัลจะเกิดขึ้นในอัตราเร่ง บวกกับประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่ช่วงสังคมสูงวัย หมายถึงตอนนี้เรามีผู้สูงอายุ 10% ของประชากร ซึ่งใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน อย่างการซื้อสินค้าต่างๆ ด้วย

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การใช้อินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวันจะอยู่ในสมาร์ทโฟน หรือโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์พกพา ใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 523 บาทต่อเดือน เวลาใช้งานเฉลี่ยประมาณ 8 ชม. แต่เจนซีและเจนวายจะใช้งานมากกว่าประมาณ 9 ชม. โดยพบว่ามีการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มดิจิทัล ประมาณ 70.3% ส่วนอีก 29.7% ไม่ได้ซื้อเพราะชื่นชอบการการทดลองจับหรือเลือกสินค้าเองมากกว่า บวกกับไม่เชื่อมั่นหรือไม่ไว้ใจช่องทางออนไลน์ด้วย แต่หากแยกดูในแต่ละช่วงวัย จะเห็นเจนเอ็กซ์ เจนวาย และเจนซีซื้อสินค้าผ่านออนไลน์แบบเป็นเรื่องปกติแล้ว ส่วนช่องทางในการชำระสินค้า จะเป็นแอพพลิเคชั่นของธนาคาร 68.97% เงินสดหรือเก็บแบบปลายทาง 63.88% บัตรเครดิต 62.81% เราเห็นสัดส่วนการใช้งานตู้กดเงินสดหรือตู้เอทีเอ็มลดน้อยลงเรื่อยๆ ด้วย โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 1,485 บาทต่อครั้งต่อเดือน

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ลักษณะการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาหารและเครื่องดื่ม 66.4% 2.เสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น เครื่องประดับ 65.5% และ 3.ยาเวชภัณฑ์ อาหารเสริม 38.3% โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน 81.7% ช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงิน แบ่งเป็น 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.แอพพลิเคชั่นของธนาคาร 97.6% 2.โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม 73.2% และ 3.ชำระเป็นเงินสด 65.8% ซึ่งเหตุที่ทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ เป็นเพราะมีความสะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน รวมถึงใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา ทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่นธนาคาร อาทิ รับ-โอน-จ่าย ซึ่งเชื่อว่ายุคปัจจุบันการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มมีความปลอดภัย

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ความเสียหายจากภัยคุกคามทางการเงิน หรือการล่อลวงการเงินในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มองว่ามีความเสียหายมากและกลัวความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยทราบหรือไม่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการป้องกันและการจัดการ ภัยคุกคามทางการเงนิ ร่วมกับสานักงานภาครัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีมาตรการของธปท.ออกมา หรือรู้ก็เป็นส่วนน้อยมากๆ โดยมีการมองว่ามาตรการของธปท.ที่ออกมานั้น น่าจะได้ผลในระดับปานกลางหรือน้อย แต่ยังไม่ได้ครอบคลุมปัญหาทั้งหทดที่เกิดขึ้น หรือมีมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันดูแลผู้ใช้งานช่องทางออนไลน์เหล่านี้ โดยสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจดิจิทัลของไทย ได้แก่ 1.ออกมาตรการป้องกัน ควบคุม และตรวจสอบ เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์ 2.จัดการกับผู้ทำความผิดอย่างจริงจัง ไม่มีข้อยกเว้น 3.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อรองรับการพัฒนาของเทคโนโลยีในอนาคต 4.ผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ ผ่านการสนับสนุนซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ 5.จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในธุรกิจและชีวิตประจำวัน และ 6.สร้างระบบจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชาชนให้เป็นไปตามกฎหมาย PDPA

Advertisement

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การติดตามข่าวสารทางการเมืองของประชาชน มี 32.5% ที่ติดตามมาก ส่วน 11.9% ไม่ติดตามเลย สาเหตุที่ไม่ติดตามเป็นเพราะไม่ค่อยสนใจข่าวสารทางการเมือง เนื่องจากเบื่อหน่ายจากการทุจริต การซื้อเสียงและการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่มีเวลาในการติดตามข่าวสารทางการเมือง เพราะรู้สึกว่าเครียด ส่วนสาเหตุที่ติดตามเป็นเพราะมองว่าการเมืองเป็นส่วนสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ใกล้ช่วงเลือกตั้ง จึงต้องติดตามและสืบค้นข่าวสาร เพื่อเป็น ประโยชน์ต่อการตัดสินใจ รวมถึงติดตามข่าวสารทางการเมืองเป็นประจำอยู่แล้ว โดยประเมินตามกลุ่มวัยพบว่า เจนเบบี้บูมเมอร์ ติดตามข่าวสารการเมืองปานกลาง 33.7% เจนเอ็กซ์ ปานกลาง 32% เจนวายมาก 36.6% และเจนซี ปานกลาง 31.5% โดยสิ่งที่คาดหวังหรือต้องการจากพรรคการเมือง คือ แก้ไขปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ และความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ ทำตามนโยบายที่ได้พูดไว้ในช่วงหาเสียง แก้ไขปัญหาการทุจริตของหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมถึงแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมในสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image