ธุรกิจร้านอาหารอ่วม ค่าไฟพุ่ง 70% ดิ้นปรับตัวลดปริมาณ-ไม่จ้างงานเพิ่ม

ธุรกิจร้านอาหารอ่วม ค่าไฟพุ่ง 70% ดิ้นปรับตัวลดปริมาณ-ไม่จ้างงานเพิ่ม

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าไฟฟ้าในตอนนี้ถือว่าปรับขึ้นมาสูงมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ จากการสอบถามร้านอาหารแห่งหนึ่งพบว่า ค่าไฟฟ้าเดือนล่าสุดปรับขึ้นมาเป็น 1.7-1.8 ล้านบาท จากเดิม 1.1-1.2 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นการปรับขึ้นมากว่า 70% แต่ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารไม่สามารถปรับราคาขายขึ้นตามได้ทันที ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องเข้าไปอยู่ในการบริหารจัดการแทน ทำให้ค่าไฟที่แพงขึ้นส่งผลกระทบทั้งต่อธุรกิจ ที่มีต้นทุนมากขึ้น รายได้น้อยลง กำไรลดลง รวมถึงกระทบกับผู้บริโภคในส่วนของการจ่ายเท่าเดิม แต่ปริมาณที่ได้รับลดลง หรืออาจต้องจ่ายแพงขึ้นด้วย

นางฐนิวรรณกล่าวว่า การปรับตัวของธุรกิจร้านอาหาร หรืออย่างภัตตาคาร ก็จะไม่เพิ่มกำลังคน หรือพนักงานในการทำงานมากขึ้น เพราะแรงงาน 1 อัตรา ถือเป็นต้นทุนที่สูงมากในแง่ของภาคธุรกิจ ซึ่งหากมองในอดีตก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด หรือช่วงที่เศรษฐกิจดีๆ เราจะเห็นการจ้างงานเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองการใช้จ่ายและความต้องการได้รับบริการในภาคธุรกิจบริการจำนวนมาก โดยตอนนี้เราอาจเห็นธุรกิจที่มีกำลังในด้านเงินทุน หันไปใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หรือเทคโนโลยีแทนการจ้างแรงงานมนุษย์มากกว่าเดิม

“โชคร้ายของภาคธุรกิจที่ภาวะค่าไฟฟ้าแพงแบบนี้ ดันมาเกิดในช่วงการเลือกตั้งใหม่พอดี ทำให้รัฐบาลอาจไม่สามารถเข้ามาช่วยผู้ประกอบการหรือประชาชน เพื่อลดความเดือดร้อนให้ได้ เพราะอาจมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนมากๆ ในปีนี้ ถือเป็นภาวะที่จำทนมากกว่าปกติ

ต้นทุนเพิ่มฉุดรายได้
นางฐนิวรรณกล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น หากเทียบกับรายได้แล้ว ถือว่ายังโชคดีที่ตอนนี้เป็นช่วงไฮซีซั่นของการใช้จ่าย เพราะมีช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ด้วย ทำให้ธุรกิจร้านอาหารค่อนข้างขายดี จนถึงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ผู้ประกอบการจึงสามารถบริหารจัดการต้นทุนกับรายได้ได้อยู่ ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจด้วย แต่ในแง่รายได้ที่หักลบกับต้นทุนลดลง ก็ทำให้กำไรลดลงด้วย ทำให้แทนที่ผู้ประกอบการจะสามารถนำกำไรส่วนนี้ไปใช้หนี้สะสมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็จำเป็นต้องนำมาบริหารกับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นมามากแทน นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนก็สนับสนุนให้คนใช้จ่ายในร้านอาหารหรือภัตตาคารมากขึ้นด้วย แต่จะเป็นอานิสงส์ในร้านที่มีเครื่องปรับอากาศเป็นหลัก ทำให้โอกาสในการได้ลูกค้าที่มีศักยภาพใช้จ่ายสูงๆ อยู่ในร้านที่มีขนาดใหญ่มากกว่า

Advertisement

นางฐนิวรรณกล่าวว่า เชื่อว่าทุกคนมีความคาดหวังในการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ ว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาต้องมีนโยบายในการดูแลเรื่องค่าไฟฟ้า เพราะหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ในแง่เศรษฐกิจรวมจะได้รับผลกระทบแน่นอน แต่ในช่วงนี้ที่เป็นการหาเสียงก่อนเลือกตั้ง ก็อาจยังไม่สามารถมีอะไรออกมาช่วยได้ ผู้ประกอบการที่มีกำลังก็บริหารจัดการได้ แต่เป็นห่วงธุรกิจขนาดเล็กมากๆ อย่างไมโครเอสเอ็มอี ที่แม้เศรษฐกิจฟื้นแต่ก็ยังไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ เพราะการเข้าถึงเงินทุนไม่มากเท่ารายใหญ่ บวกกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ฟื้นขึ้นมาก็ไม่ได้เท่ากันทั้งหมดด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image