น้ำกิน น้ำใช้ จ่อปรับตาม ‘ค่าไฟ’ ประปาชี้ไม่ได้ขึ้นมาเป็นทศวรรษแล้ว

‘น้ำ’ จ่อปรับราคาตามค่าไฟ ‘กปน.-กปภ.’ ชี้ไม่ได้ขึ้น 23 ปี ‘เอสเอ็มอี’ โอดพิษ ‘เอฟที’ พุ่ง

เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กปน.ได้รับผลกระทบจากต้นทุนหลักการผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นทุกอย่าง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมาก ประกอบด้วย 1.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรัฐบาลเรียกเก็บที่ราชพัสดุ กปน.ต้องเสีย 150 ล้านต่อปี จากเดิมไม่ต้องเสีย 2.ค่าน้ำดิบจ่ายให้กับกรมชลประทานวันละ 3 ล้านบาท

นายมานิตกล่าวว่า 3.ค่าไฟเพิ่มขึ้น 20-30% หรือประมาณ 20 ล้านบาทต่อเดือน จากค่าเอฟทีของรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ปรับขึ้นกว่า 90 สตางค์ 4.ค่าธรรมเนียมการวางท่อเป็น 100 ล้านบาทต่อปี แม้ต้นทุนจะสูงขึ้น แต่ กปน.จะตรึงค่าน้ำไว้ให้นานที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาลยังไม่ต้องการให้ขึ้นค่าน้ำ ขณะเดียวกันพยายามบริหารจัดการต้นทุนทุกด้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การใช้ไฟฟ้า โดยจ่ายน้ำตามความต้องการใช้ เป็นต้น

“ปัจจุบันกำลังพิจารณาอัตราค่าน้ำให้สอดรับต้นทุนเพิ่มขึ้น หลังไม่ได้ขึ้นค่าน้ำมา 23 ปี เพื่อบริหารสภาพคล่องด้านการเงิน เพราะใช้เงินลงทุนไป 42,000 ล้านบาท เพื่อขยายการผลิตในโครงการ 9 ” นายมานิตกล่าว

Advertisement

ขณะที่ นายมงคล วัลยะเสวี รองผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ตอนนี้ กปภ.อยู่ระหว่างศึกษาโครงสร้างค่าน้ำใหม่ ตามต้นทุนเพิ่มขึ้น 15-20% ทั้งจากค่าไฟ ค่าสารเคมี เพื่อขอขึ้นค่าน้ำ หลังไม่ได้ขึ้นมากว่า 10 ปี อีก 2 เดือนจะแล้วเสร็จ จากนั้นเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาว่าจะให้ปรับขึ้นหรือไม่ หรือจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป การปรับขึ้นค่าน้ำเคยขอกับกระทรวงมหาดไทยแล้วแต่ไม่ได้รับอนุมัติ และขอให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากภาระค่าไฟฟ้าสูงขึ้นและค่าเอฟทียังอยู่ในอัตราสูง ส่งผลต่อธุรกิจทุกภาคส่วน บางส่วนได้ปรับตัวรับสถานการณ์ พร้อมกับมีข้อเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้โอกาสนี้แก้ไขระยะสั้น และปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำในอนาคต

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากค่าไฟฟ้าแพงมีผลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น ภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มี 523,372 ราย ภาคอุตสาหกรรมโดยรวมทั้งขนาดใหญ่ถึงขนาดเล็กเป็นภาคที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสัดส่วนสูงสุดถึง 55% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ จะได้รับผลกระทบต้นทุนการผลิตจากการใช้ไฟฟ้าเป็นภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม ส่งผลต่อต้นทุนสินค้า อาจต้องปรับขึ้นด้วย

Advertisement

นายแสงชัยกล่าวว่า หากผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนนั้นไม่ได้ บางรายจำเป็นต้องแบกรับต้นทุนนั้นไว้ เพราะไม่สามารถปรับราคาได้ก็จะส่งผลต่อผลประกอบการ บางรายอาจจำเป็นต้องลดกำลังคน และลีน (Lean) กิจการ หรือการปรับลดหรือตัดกระบวนการไม่จำเป็น หรือสิ้นเปลืองออก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image