โรงไฟฟ้าขยะเคลื่อนที่  รอลุ้น‘รบ.ใหม่’หนุน

โรงไฟฟ้าขยะเคลื่อนที่  รอลุ้น‘รบ.ใหม่’หนุน

ขณะนี้หลายประเด็นร้อนด้านพลังงาน กำลังเป็นวาระสำคัญที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาโชว์ฝีมือ หนึ่งในวาระหลักที่สังคมอยากเห็นอย่างจริงจังคือ นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อใช้ทรัพยากรภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานที่ราคาผันผวน บางคราแพงโหดยามเกิดวิกฤตของโลก อาทิ การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

นอกจากนี้ การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ยังเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการสนับสนุนให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงสะอาดประเภทต่างๆ

เรื่องนี้ กระทรวงพลังงาน มีนโยบายเดินหน้าเต็มที่ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 80 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ช่วงปี 2564-2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) หรือพีดีพี 2023

Advertisement

ที่ผ่านมา มีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 5,203 เมกะวัตต์ ตามแผนดังกล่าว จะมีปริมาณรับซื้อเพิ่มเติมอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.5 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์

การเพิ่มเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในระบบไฟฟ้าของประเทศมุ่งสู่สัดส่วน 50% ตามแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ด้านไฟฟ้า เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) ภายในปี ค.ศ.2065 (พ.ศ.2608)

ทั้งแผนพลังงานชาติ และพีดีพี 2023 ล้วนรอรัฐบาลใหม่ทั้งสิ้น

Advertisement
วัฒนพงษ์ คุโรวาท

เมื่อเร็วๆ นี้ “วัฒนพงษ์ คุโรวาท” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ และคณะสื่อมวลชน ไปเยี่ยมชมโครงการสาธิตโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น ต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะ สนับสนุนพลังงานสะอาดของประเทศ คิดค้นโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ไม่เพียงเท่านี้ ผลงานของ กฟผ. ยังถือเป็นนวัตกรรมที่จะมาช่วยชุมชนในการลดขยะ และนำมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยโมเดลโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่สามารถกำจัดขยะสูงสุดได้ถึง 24 ตันต่อวัน และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ 200 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

ผู้อำนวยการ สนพ.ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้ยังมีข้อจำกัด คือขยะที่จะเข้าสู่ระบบได้ต้องเป็นขยะแห้งเท่านั้น ขยะอินทรีย์ ขยะเปียกจะไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ ดังนั้น การแยกขยะต้นทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีประสิทธิภาพจะเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จของโครงการนี้ และช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ช่วยกันเปลี่ยนจากเมืองขยะล้น เป็นเมืองพลังงานสะอาด อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ๆ ได้ในอนาคต

ด้าน “อลงกรณ์ พุ่มรักธรรม” ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง กฟผ. เสริมว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง เป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังผลิตให้แก่ภูมิภาคนี้ถึง 650 เมกะวัตต์ และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าปีละ 4,660 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง คิดเป็น 20% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นโรงไฟฟ้าแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

อลงกรณ์ พุ่มรักธรรม

ปัจจุบัน กฟผ.พัฒนาโครงการต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลเสมอมา มีทั้งโรงไฟฟ้าหลักและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าควบคู่กันไป เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนในอนาคตเป็นไปอย่างราบรื่น และรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ รองรับการพัฒนาทุกภาคส่วน พร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน

ล่าสุด กฟผ.พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ (เคลื่อนที่โดยรถเทรลเลอร์) ทดสอบครั้งแรก รอบพื้นที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง เนื่องจากปัจจุบันขยะมูลฝอยในชุมชนมีจำนวนมากขึ้น ขณะที่ภาพรวมขยะของประเทศมีมากถึงปีละ 14 ล้านตัน เกิดปัญหาขยะล้นเมือง ไม่มีการคัดแยกขยะ ขยะมูลฝอยชุมชนมาก การจัดการมลพิษไม่ดี มีค่าใช้จ่ายการลงทุนกำจัดสูง เกิดปัญหาการเมืองท้องถิ่น และการยอมรับจากชุมชน

ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยของ กฟผ. และโรงไฟฟ้าน้ำพองจึงร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาขึ้นโรงไฟฟ้าขยะเคลื่อนที่ รอบพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้าน้ำพอง และเริ่มทดสอบครั้งแรก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เน้นการเข้าถึงชุมชน ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ๆ พร้อมปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

จุดเด่นของโรงไฟฟ้าขยะเคลื่อนที่ เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าขยะติดตั้งถาวร คือ สามารถเคลื่อนได้ ย้ายไปยังจุดที่มีความต้องการ ไม่มีผู้ผลิตขาย ต้องนำมาประกอบเข้าด้วยกัน เขียนระบบควบคุมใหม่ ให้ควบคุมทุกส่วนได้ เพิ่มระบบติดตามตำแหน่ง มีออนไลน์มอนิเตอริ่งรูปแบบใหม่ และการออกแบบใหม่ ปลอดภัยมากขึ้น

ผลศึกษาต้นทุนโครงการอยู่ที่ 40 ล้านบาท รายได้ต่อปี 10 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดำเนินการปีละ 6 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุน 7.28 ปี อัตราผลตอบแทน (ไออาร์อาร์) 10.22% อายุโครงการ 20 ปี กำไร 82 ล้านบาท

สำหรับ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ จะแบ่งเป็น 3 ส่วนจากรถเทรลเลอร์ 3 คัน คันแรกจะทำหน้าที่แปรสภาพขยะอาร์ดีเอฟ หรือเชื้อเพลิงขยะที่เผาไหม้ได้ เข้าไปรับซื้อขยะจากชุมชนผ่าน อปท. ช่วยท้องถิ่นมีรายได้ แต่ปัจจุบันด้วยระบบรับได้แค่ขยะอาร์ดีเอฟ ไม่สามารถทำขยะเปียกได้ จึงต้องอาศัยการแยกขยะจากชุมชนเป็นหลัก โดยทีมศึกษาของ กฟผ.ได้เข้าไปจัดกิจกรรมภายในโรงเรียนเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้นักเรียนร่วมกันแยกขยะ

ส่วนคันที่ 2 จะติดตั้งเตาเผาขยะและหม้อน้ำ เพื่อเดินหน้ากระบวนการเผา และคันที่ 3 จะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโออาร์ซี หรือเทคโนโลยีที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้แหล่งความร้อนอุณหภูมิต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“กฟผ.วาดหวังให้โครงการนี้สำเร็จ โดยรัฐบาลชุดใหม่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่ออนาคตจะเปิดให้ อปท. จัดซื้อ หรือเช่ารถผลิตไฟฟ้าจากขยะเคลื่อนที่ จาก กฟผ. เพื่อขายไฟฟ้าให้กับ 2 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เสริมความมั่นคงให้ประเทศ เพิ่มรายได้ ช่วยขยะ ลดมลพิษ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย” ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง กฟผ. คาดหวัง

โรงไฟฟ้าขยะเคลื่อนที่ เป็นอีกโครงการเจ๋ง ที่จะช่วยท้องถิ่นเรื่องขยะล้นเมือง อีกทั้งเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image