“บิ๊กจิน”แจง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ไม่สอดไส้ซิงเกิ้ลเกตเวย์เพื่อละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

(แฟ้มภาพ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เปิดเผยถึงกรณีที่เครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้ล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่…. พ.ศ….. (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์.) ซึ่งกำลังเข้าสู่การพิจารณาวาระ 3 ของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ สนช.ทบทวนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวก่อนนำเข้าสู่วาระ 3 โดยเฉพาะประเด็นมาตรา 20 การระงับการทำให้แพร่หลาย หรือการปิดกั้นเว็บไซต์นั้น เนื่องจากกังวลว่าเป็นการดำเนินการในรูปแบบของซิงเกิ้ลเกตเวย์ ว่า อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฉบับแรกมีการใช้งานมาร่วม 10 ปี ฉะนั้นเพื่อให้เข้ากับยุคของการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลปัจจุบัน จึงจำเป็นที่ต้องให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งในส่วนกระทรวงดีอีได้มีการปรับเพิ่มในประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น อาทิ 1. การปรับปรุงเนื้อหากฎหมายเดิมให้มีความทันสมัย 2.ปรับเพิ่มเนื้อหากฎหมายในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเป็นการป้องกันคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 3. ในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์(ไซเบอร์ซีเคียวลิตี้)

“นอกจากนี้ ที่ประชุม สนช.ยังได้มีการปรับปรุง แก้ไขเนื้อหาของกฎหมายกว่า 20 ประเด็น เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ล้วนแต่เพื่อเป็นการปกป้องประชาชนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจว่าการปรับปรุงแก้กฎหมายในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ จะช่วยปกป้องสิทธิให้กับประชาชน ไม่ได้ไปปิดกั้นหรือนำข้อมูลส่วนบุคคลมาเผยแพร่ในสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแน่นอน จึงอยากให้ประชาชนสบายใจ และไม่อยากให้ตีความกันแบบผิดๆอีก” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ และที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ… กล่าวว่า ร่างฯ แก้ไขล่าสุดได้มีการปรับปรุงในระดับที่น่าพอใจ โดยมีการปรับแก้มาตราที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วง อาทิ การระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ (คำสั่งให้ปิดเว็บไซต์) ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำนวน 5 คนเป็นผู้พิจารณาแล้วเสนอความเห็นให้ศาลมีคำสั่งระวังการแพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยได้บัญญัติเพิ่มเติมห้ามมิให้พนักงานสอบสวนเปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการแก่บุคคลใดโดยกำหนดโทษเจ้าพนักงานที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปีปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นการเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายโดยอ้างข้อมูลว่าร่างฯ อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเข้าข่ายมีการกลั่นกรองข้อมูลหรือเป็นซิงเกิ้ลเกตเวย์ เมื่อตรวจสอบแล้วการจัดร่างฯไม่มีส่วนใดที่บัญญัติให้มีการตั้งซิงเกิ้ลเกตเวย์ แม้จะอ้างว่า ร่างฯ กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ออกระเบียบเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ได้ ก็ไม่เป็นความจริงเพราะประกาศซึ่งอำนาจรองจากกฎหมายหลักย่อมไม่สามารถบัญญัติให้มีการตั้งหน่วยงานหรือการกระทำใดที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายหลักได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image