สศค. มั่นใจค่าไฟฟ้ายังไม่กระทบเงินเฟ้อ ชี้เลือกตั้งกระตุ้นบริโภค ส่วนนโยบายรบ.ใหม่ใช้ไม่ทันงบฯ66

สศค. มั่นใจค่าไฟฟ้ายังไม่กระทบเงินเฟ้อ ชี้เลือกตั้งกระตุ้นบริโภค ส่วนนโยบายรบ.ใหม่ใช้ไม่ทันงบฯ66 ระบุถ้าจะกู้เพิ่มต้องเสนอความจำเป็นใช้เงิน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงกรณีที่ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในช่วงว่า แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจนประชาชนรู้สึกถึงผลกระทบ แต่ในภาพรวม ถ้าเปรียบเทียบสัดส่วนของค่าไฟฟ้า ในราคาสินค้าเงินเฟ้อประเทศนั้น ในหมวดค่าพลังงงาน ทั้งไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซหุงต้มนั้น มีสัดส่วนเพียง 5.5% เท่านั้น จึงถือว่าไม่ได้กระทบกับอัตราเงินเฟ้อ และในปี 2566 นี้ คาดการอัตราเงินเฟ้อก็ยังคงเป็นทิศทางลดลง ทั้งนี้ เชื่อว่าปัญหาค่าไฟฟ้า ทางกระทรวงพลังงานคงมีนโยบายออกมาช่วยบรรเทาต่อไป

นายพรชัย กล่าวถึงการเลือกตั้งปี 2566 จะมีผลต่อการบริโภคภายในประเทศอย่างไร ว่า อย่างน้อยการที่การหาเสียง การทำป้ายหาเสียง นั้นจะช่วยในเรื่องของการจ้างงาน และการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ตัวเลขผลการใช้จ่ายในช่วงก่อนเลือกตั้งนั้น ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน คงต้องรอหลังจากที่การเลือกตั้งจบ แล้วพรรคการเมืองต่างๆ รายงงานการใช้จ่ายกับ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกครั้ง

นายพรชัย กล่าวว่า ในส่วนของมุมมองนโยบายหาเสียงแบบประชานิยม กับฐานะการคลังนั้น เบื้องต้นประเมินว่า นโยบายของรัฐบาลใหม่ คงออกมาไม่ทันช่วงที่ใช้งบประมาณปี 2566 และคงจะเริ่มใช้ในเงินของปีงบ 2567 ซึ่งขณะนี้ คาดว่าระหว่างรอรัฐบาลใหม่ ช่วงต้นปีงบ 2567 (เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป) ยังคงใช้งบปี 2566 ไปจนกว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปีงบ 2567 จะผ่านสภาได้

Advertisement

นายพรชัย กล่าวว่า สำหรับงบประมาณปี 2567 นั้น ทางสำนักงบประมาณร่างกฎหมายไว้ว่า มีกรอบรายจ่ายอยู่ที่ 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นรายจ่ายประจำที่กำหนดไว้แล้ว ส่วนที่ยังไม่มีกำหนดรายจ่ายใช้จ่ายก็เป็น งบประมาณกลาง ราวกว่า 9 หมื่นล้านบาท ที่ต้องเผื่อสำหรับเหตุฉุกเฉิน ส่วนใหญ่เป็นอุบัติภัยที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งหากรัฐบาลใหม่ต้องการใช้งบกับนโยบายใหม่ ก็จะต้องแถลงความจำเป็นต้องใช้จากรัฐสภาเพื่อให้อนุมัติ

นายพรชัย กล่าวว่า ส่วนการที่รัฐบาลใหม่จะของกู้เงินเพิ่มเติมนั้น ก็จะต้องเสนอความจำเป็นต่อสภาเช่นกัน เหมือนกับ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในช่วงโควิด รวม 1.5 ล้านล้านบาท ที่ใช้สำหรับเรื่องการรักษาพยาบาลโรคโควิด วัคซีนโควิด และการพยุงการจ้างงาน ทั้งนี้ พ.ร.บ.งบปี 2567 ก็มีแผนการคลังระยะปานกลาง ที่ยังคงดำเนินการอยู่ คือเป้าหมายการลดการขาดดุลงบประมาณ โดยปีงบ 2567 จะต้องขาดดุลไม่เกิน 3% ต่องบประมาณ ซึ่งมีผลให้กู้เงินขาดดุลได้จำกัดมากขึ้น

“แม้ว่าในส่วนของเพดาน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี กำหนดที่ 70% โดยล่าสุดหนี้สาธารณะ จะอยู่ที่ 61% ทำให้มีช่องว่างในการกู้เงินได้ แต่การกู้เงินก็ควรคำนึงถึง ผลของการกู้เงิน ว่าช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ และการกู้เงินแต่ละครั้งก็เป็นภาระของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน และความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทยด้วย ดังนั้น แม้จะมีช่องยังไม่กู้เงินได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกู้จำเต็มเพดาน”นายพรชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image