กฟผ.เผยช่วยค่าไฟได้ 0.07 สตางค์ หวั่นกระทบสภาพคล่อง เหตุแบกหนี้ค่า Ft 1.5 แสนล้าน

“กฟผ.” เผยช่วยค่าไฟได้ 0.07 สตางค์ หวั่นกระทบสภาพคล่อง หลังแบกหนี้ค่า Ft 1.5 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า สภาพคล่องของบริษัทเมื่อต้องแบกค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) รวม 150,000 ล้านบาท สิ่งที่ทำได้คือการเจรจากับคู่สัญญา อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมถึง 2 การไฟฟ้าจัดจำหน่ายที่ กฟผ. ต้องรับเงิน รวมถึงการกู้เงินทั้ง 2 ก้อนรวม 110,000 ล้านบาทของ กฟผ. ถือเป็นการกู้เงินระยะสั้นและเบิกได้ตามวงเงิน เป็นการกู้โดยการใช้งานที่ต้องจ่ายเงินต้นคืนภายในระยะเวลา 2 ปี

ดังนั้น เมื่อถึงเวลากำหนด 2 ปี กฟผ.ต้องจ่ายเงินต้นคืน หาก กฟผ.ไม่ได้เงินเก็บจากค่าไฟฟ้าผันแปรที่ค้างรับจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะไม่มีเงินไปจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้ ไม่สามารถกู้เงินไปลงทุนได้ และเครดิตเรตติ้งจะลดลงจากที่เคยเป็นองค์กรที่มีเรตติ้งดีมาตลอด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งระบบ

นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า สำหรับการยืดหนี้ที่กกพ. ต้องคืนให้กับ กฟผ. ซึ่ง กฟผ.ไม่สามารถยืดหนี้ได้ เนื่องจาก 1-2 ที่ผ่านมา ได้มีการเจรจากับกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสอดคล้องการชำระหนี้หนี้ค่าไฟฟ้าผันแปรที่ 150,000 ล้านบาท

Advertisement

ขณะนี้การชำระหนี้ได้เปลี่ยนจากแผนเดิมที่ได้กำหนดไว้ว่า กกพ.ต้องคืนหนี้ให้ กฟผ. โดยได้แบ่งการชำระหนี้จากเดิมทยอยคืนใน 6 งวด งวดละ 4 เดือน ต้องทยอยคืนเงินเฉลี่ย 20,000 ล้านบาท แต่จากการทบทวนโดย กฟผ.พิจารณาแล้วสามารถขยายกรอบการชำระหนี้เป็น 7 งวด

โดยได้ลดค่าไฟฟ้าผันแปรงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม จากเดิมค่าไฟฟ้าผันแปรอยู่ที่ 4.77 สตางค์ต่อหน่วย ลดลงที่ 4.70 บาทต่อหน่วย หรือลดลง 0.07 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งถือเป็นความร่วมมือในหลายภาคส่วน

อย่างไรก็ตาม เท่าที่มีการเจรจาขณะนี้ กฟผ.สามารถแบกหนี้ได้สิ้นสุดตามแผนที่ระบุไว้ว่า กกพ.จะคืนหนี้ได้สิ้นสุดในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2568 ซึ่งช่วงนั้นรัฐบาลต้องหาเงินมาอุ้มตามกรอบการคืนหนี้ใน 7 งวด เนื่องจาก กฟผ.มีภาระในการคืนเงินกู้ หากองค์กรผิดนัดชำระหนี้และเสียเครดิตจะมีผลต่อการกู้เงินมาลงทุนธุรกิจในอนาคต

Advertisement

“ซึ่งการแบกรับค่าเอฟที ให้ประชาชนตอนนี้ เมื่อถึงจุดที่เหมือนอูฐแบกฟางไม่ไหวและเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ถ้าใส่ฟางมาเพิ่มหลังจะหักแน่ เหมือนกับ กฟผ.ไม่สามารถยืดหนี้ให้มากกว่านี้แล้ว” นายบุญญนิตย์ กล่าว

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรงพลังงาน และประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า สำหรับประเด็นอัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นอีกสาเหตุทำให้ค่าไฟแพงนั้น ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 36% ไม่ได้สูงถึง 50 – 60% โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการนำค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญามาคำนวณ จึงไม่สะท้อนอัตราการสำรองไฟฟ้าแท้จริง

อาทิ ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจัยช่วงเวลา ฤดูกาล ถูกคำนวณเป็นสำรองไฟฟ้าแต่ไม่ใช่สำรองไฟฟ้าที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม หากจะให้ค่าไฟฟ้ามีราคาต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยนั้น หากดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ก่อนหน้านี้ การนำเข้าก๊าซ LNG ในช่วงนั้นถูกมาก โดยปี 2562-2563 อยู่ที่ระดับ 6-7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู กระโดดมาที่ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากปัจจัยเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิดระบาด

รวมถึงสงครามรัสเซียและยูเครน ดังนั้น ต้นทุนฐานไม่ได้มีการกระทบ แต่ค่าไฟฟ้าผันแปรกระทบกับราคาค่าไฟที่แพงขึ้น เพราะมาจากต้นทุนเชื้อเพลิง LNG ในช่วงตอนปลายปี 2565 ที่มีราคาแพงมาก

“ขณะนี้พยายามคำนวณในราคาที่ลดลงมาที่ 19-20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และ กกพ.ได้กำชับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดหาให้ได้ในราคา 13-15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูในรอบหน้า เพื่อทำให้ราคาลดลง” นายกุลิศ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image