‘จุรินทร์’ โชว์ผลงาน 3 ปี ประสานรับซื้อ-ทำเงินให้เกษตรกรกว่า 8 พันล. ลั่นเป็นปีทองของผลไม้ไทย

‘จุรินทร์’ โชว์ผลงาน 3 ปี ประสานรับซื้อ-ทำเงินให้เกษตรกรกว่า 8 พันล. ลั่นเป็นปีทองของผลไม้ไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน กรมการค้าภายได้นำผู้ประกอบการลงพื้นที่ไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ภายใต้โครงการอมก๋อย โมเดล เพื่อไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ได้แก่ มะเขือเทศ พริก บุก ฟักทอง และกระหล่ำปลี ในราคานำตลาด ปริมาณรวม 25,000 ตัน ซึ่งเป็นการหาตลาดให้กับเกษตรกร และยังช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาดีขึ้นด้วย

“การนำผู้ประกอบการไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรใน อ.อมก๋อย กระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มทำครั้งแรก เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2563 จนทำให้เกิดเป็นต้นแบบอมก๋อย โมเดล และได้ใช้โมเดลนี้ ในการช่วยเหลือเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งการซื้อพืชผัก ผลไม้ โดยเชื่อมโยงการซื้อขายผลผลิตแล้วกว่า 4 แสนตัน มูลค่าที่ทำเงินให้กับเกษตรกรประมาณ 8,274 ล้านบาท และจะเดินหน้าทำโครงการนี้ต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ ผลจากการใช้อมก๋อย โมเดล เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ หอมหัวใหญ่ ราคาช่วงที่ตกต่ำอยู่ที่ 8-9 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ปัจจุบัน 18 บาทต่อกก. กระเทียม 9-12 บาทต่อกก. เพิ่มเป็น 25 บาทต่อกก. หอมแดง 7-8 บาทต่อกก. เพิ่มเป็น 14-15 บาทต่อกก. ส้ม 14-15 บาทต่อกก. เพิ่มเป็น 40 บาทต่อกก. ลำไย ลูกร่วง 11-12 บาทต่อกก. เพิ่มเป็น 17-18 บาทต่อกก. มะม่วงน้ำดอกไม้ 30 บาทต่อกก. เพิ่มเป็น 65-70 บาทต่อกก. และกระหล่ำปลี 2-3 บาทต่อกก. เพิ่มเป็น 7 บาทต่อกก. เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 กรมการค้าภายในจะนำผู้ประกอบการ เข้าไปรับซื้อสับปะรดภูแล ในราคานำตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด และหากพืชผลทางการเกษตรตัวใด มีปัญหาผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ก็จะใช้อมก๋อย โมเดล นำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อทันที และจากนั้น จะนำไประบายผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ โมบายพาณิชย์ งานพาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน และในห้างค้าส่งค้าปลีก

“ผมมั่นใจว่าในปีนี้ถือเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ของผลไม้ไทย ที่ราคาพืชผลจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเพียงราคายางพาราที่ยังอ่อนตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากยอดการสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง เป็นเหตุมาจากเศรษฐกิจโลกถดถอย นอกนั้นถือเป็นปีทองของผลไม้ โดนเฉพาะการส่งออกไปที่ประเทศจีน ที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นแล้วอีกด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image