อีอีซี เล็งถามการบินไทยลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน หากเมินจะดึงต่างชาติลุยแทน

อีอีซีรุกลงทุนสนามบินอู่ตะเภา-ท่าเรือมาบตาพุด3 เล็งทำหนังสือถามบินไทยความชัดเจนลงทุนเอ็มอาร์โอ หากเมินจะดึงต่างชาติลงทุนแทน เร่งเคลียร์สัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เสนอครม.ชุดใหม่อนุมัติ

ที่จ.ระยอง นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยภายหลังติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักอีอีซี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ว่า จุดแรกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้เริ่มก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และอยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศเชิญชวนผู้รับจ้างงานทางวิ่งที่ 2(รันเวย์2) คาดดำเนินการเดือนพฤษภาคม และอยู่ระหว่างส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับ บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด หรือ ยูทีเอ ช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 คาดก่อสร้างปี 2567 และเปิดบริการช่วงปี 2570 ด้านการร่วมลงทุนพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เมืองการบิน คลังสินค้า ลานจอดอากาศยาน ถนนและสาธารณูปโภคภายในโครงการ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแผนแม่บทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ธุรกิจการบิน

“จากการประเมินสถานการณ์การบินหลังเผชิญโควิด-19 เป้าหมายผู้โดยสารสนามบินช่วงแรกจะปรับเหลือ 12 ล้านคน จาก 15 ล้านคน ส่วนปลายแผนยังเป็น 60 ล้านคนเท่าเดิม โดยวงเงินลงทุนตลอดโครงการ 2.04 แสนล้านบาท”นายจุฬากล่าว

Advertisement

-จ่อถามบินไทยความชัดเจนเอ็มอาร์โอ

นายจุฬา กล่าวว่า คณะได้ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในสนามบิน ได้แก่ งานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ซึ่งได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) 15 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (โคเจเนอเรชั่น) 80 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานสะอาดตามแนวคิดหลักของอีอีซี มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 95 เมกะวัตต์ พร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ ขนาด 50 เมกะวัตต์ ก่อสร้างโดยบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาฯ ก้าวสู่ มหานครการบินภาคตะวันออกที่ใช้พลังงานสีเขียว สร้างความเชื่อมั่นการลงทุน

นายจุฬา กล่าวถึงกรณีบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ยังไม่พร้อมลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(เอ็มอาร์โอ) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท พื้นที่ 500 ไร่ ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานจากการบินไทย แต่เบื้องต้นถ้าไม่พร้อมลงทุน อีอีซีจะเชิญชวนนักลงทุนรายอื่นทั้งไทยและต่างชาติ โดยจะดูรายละเอียดข้อตกลงร่วมทุนก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ระหว่างการบินไทยกับแอร์บัสเมื่อปี 2561 อีกครั้ง หลังจากนั้นจะทำหนังสือสอบถามการบินไทย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังมีเวลาให้การบินไทยตัดสินใจเพราะต้องรอรันเวย์2เสร็จช่วงปี 2569-70 จึงจะเดินหน้าเอ็มอาร์โอต่อได้

Advertisement

-ท่าเรือมาบตาพุดเฟส3คืบหน้าเกินเป้า

นายจุฬา กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 พัฒนาเร็วกว่าแผน ล่าสุดอยู่ที่ 43.72% จากเป้าหมาย 43.71% คาดว่าจะเปิดดำเนินการท่าเรือก๊าซ (ส่วนที่ 1) ภายในปี 2570 ปัจจุบันคืบหน้า อาทิ ก่อสร้างเขื่อนกันทราย ลงหินแกนแล้วเสร็จ 100% ติดตั้งม่านกันตะกอนตามที่ระบุในรายงานอีเอชไอเอเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนต่อเนื่อง ตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม รายงานต่อกรมเจ้าท่า และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)ทุก 6 เดือน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 3 ครั้ง เป็นต้น

นายจุฬา กล่าวว่า ท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 รองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเขตนิคมฯ มาบตาพุด เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ รองรับการลงทุนใน ฝอีอีซี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 19 ล้านตันต่อปี รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร และในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สร้างการลงทุนในพื้นที่ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน และประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น

-แก้ปมสัญญาไฮสปีดเทรนให้เดินหน้า

นายจุฬา กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการแก้สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการฯอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อหาข้อยุติ เพราะสัญญาเดิมเกิดก่อนโควิด-19 ไม่ได้มีการระบุข้อความหากโครงการฯไม่เป็นไปตามสถานการณ์ที่มาจากปัจจัยภายนอก อย่างไรก็ตามโครงการนี้คาดว่าจะเปิดบริการไม่ทันปี 2570 เนื่องจากเริ่มล่าช้าจากการแก้สัญญาโครงการฯ โดยสกพอ.ตั้งเป้าหมายออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (เอ็นทีพี) ภายในเดือนมิถุนายนนี้ แม้การแก้ไขสัญญาโครงการฯยังไม่แล้วเสร็จ แต่ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานได้หลังจากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน อยู่ภายใต้สัญญาเดิมก่อน ทั้งนี้ในการแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จจะต้องเสนอให้คณะกรรมการรฟท.รับทราบและส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบ

นายจุฬา กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือ F วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อยู่ระหว่างขุดลอกถมทะเล โครงการฯล่าช้า เนื่องจากโควิด อีกทั้งถมทะเลพื้นที่ต่ำเกินไป ต้องปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อไม่กระทบสัญญาร่วมทุนของโครงการฯ คาดว่าจะดำเนินการเสร็จปลายปี 2567 หลังจากนั้นกทท.จะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานในส่วนของสัญญาร่วมทุนของโครงการฯแก่เอกชนได้ภายในกลางปี 2568 โดยเอกชนจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างดำเนินการภายใน 2 ปี พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570

-ยูทีเอเร่งดึงนักลงทุนเมินไฮสปีดช้า

ด้านนายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด หรือ ยูทีเอ กล่าวว่า หลังโควิดคลี่คลาย บริษัทได้เร่งเดินหน้าดึงผู้ร่วมทุนต่างชาติเข้าพื้นที่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บินไปมาระหว่างกัน จากก่อนหน้านี้ใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลักไม่คืบหน้ามากนัก คาดว่าจะเริ่มมีความชัดเจนทั้งนักลงทุนและแหล่งเงินเพื่อเริ่มเดินหน้าตามแผนในปี 2567 และเสร็จภายในปี 2570 ส่วนกรณีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินล่าช้ากว่าแผนไม่มีผลต่อแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการเมืองบินแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image