แบงก์ชาติปรับเกณฑ์ เพิ่มทางเลือก แก้หนี้ บัตร-สินเชื่อ

แบงก์ชาติปรับเกณฑ์ เพิ่มทางเลือก แก้หนี้ บัตร-สินเชื่อ

หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสะสมมานาน ซ้ำร้ายเผชิญวิกฤตโควิด สะท้อนข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนี้ครัวเรือนปี 2563 เร่งตัวขึ้นที่ 89.7% ต่อจีดีพี จากระดับ 59.3% ในปี 2553

ล่าสุด หนี้ครัวเรือนพุ่งทะลุระดับเฝ้าระวังที่ 80% ต่อจีดีพี ตามที่ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (บีไอเอส) กำหนด ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับ 86.9% ต่อจีดีพี

ขณะเดียวกัน ธปท.เร่งออกมาตรการช่วยเหลือจากข้อมูลภาพรวม ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565 โดยการแก้หนี้เดิมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีจำนวนบัญชีที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 3.95 ล้านบัญชี ยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 2.98 ล้านล้านบาท

Advertisement

ขณะที่ความคืบหน้าภายใต้โครงการต่างๆ อาทิ 1.โครงการพักทรัพย์พักหนี้ (ปิดรับคำขอ) ข้อมูล ณ วันที่ 9 เมษายน มีจำนวน 500 ราย มูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 74,114 ล้านบาท 2.คลินิกแก้หนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 จำนวน 110,179 บัญชี เฉลี่ยผลสำเร็จ 81%

และ 3.ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ (ปิดรับคำขอ) ณ 31 ธันวาคม 2564 บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 222,164 บัญชี และสินเชื่อเช่าซื้อ 9,631 บัญชี

ล่าสุด ธปท.ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) จัดให้มีโครงการคลินิกแก้หนี้ (โครงการ) เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้เบ็ดเสร็จในที่เดียว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและได้ปรับเกณฑ์การช่วยเหลือลูกหนี้ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

Advertisement

แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะปรับดีขึ้นแต่ครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและมีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน

คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้จึงปรับเกณฑ์คุณสมบัติให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 120 วันขึ้นไป สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จากเดิมที่ต้องมีสถานะเป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เท่านั้น รวมทั้งให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้รู้จักโครงการและรับทราบสิทธิในการสมัครเข้าร่วม เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น ก่อนที่จะถูกขายหนี้หรือถูกบังคับคดี

นอกจากนี้ โครงการได้เพิ่มทางเลือกแผนการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ในโครงการที่เริ่มมีปัญหาในการผ่อนชำระ ซึ่งหากผิดนัดชำระซ้ำจะต้องกลับไปดำเนินการแก้ไขหนี้โดยตรงกับเจ้าหนี้ โดยโครงการจะพิจารณาเหตุผลความจำเป็น เพื่อแนะนำแผนการชำระหนี้ใหม่ที่เหมาะสมให้กับลูกหนี้เป็นรายกรณี เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ต่อเนื่องจนปลดหนี้ได้ในที่สุด

ทั้งนี้ การปรับแผนการชำระหนี้ดังกล่าวจะจำกัดจำนวนครั้งและความถี่ อีกทั้งในระยะแรกของการปรับโครงสร้างหนี้ โครงการมีเงื่อนไขไม่ให้ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ เพื่อสร้างวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้ได้อย่างยั่งยืน

สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถชำระได้ ธปท.แนะนำให้ชำระหนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย ซึ่งจะกระทบประวัติทางการเงินและความสามารถในการกู้ยืมในอนาคต การปรับปรุงโครงการดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

เรื่องนี้ เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้ความเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการบริโภคในระยะสั้น แต่จะลดศักยภาพการเติบโตของการบริโภคของครัวเรือนในระยะยาว ดังนั้น การขยายหรือเพิ่มคุณสมบัติลูกหนี้ให้เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ของแบงก์ชาติมีจุดประสงค์ที่ดี เพราะต้องการให้ลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือมากขึ้น และการแก้โครงสร้างหนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาของลูกหนี้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้สามารถประเมินได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของลูกหนี้

โดยหนี้ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค หรือหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หากเปรียบเทียบไทยกับต่างประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจพบว่าโครงสร้างหนี้ครัวเรือนในหลายประเทศ

เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ มีหนี้ครัวเรือน 95.2% สัดส่วนหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 91.7% มาเลเซีย หนี้รวม 84.5% หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 70.2% จีน หนี้รวม 61.9% หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 45.1% และสิงคโปร์ หนี้รวม 57.4% หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 59.9% ต่างก็มีสัดส่วนของหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยเกินครึ่งหนึ่งของหนี้โดยรวม ขณะที่หนี้เพื่อที่อยู่อาศัยของไทยมีสัดส่วนเพียง 34.7% ของหนี้ครัวเรือนโดยรวมเท่านั้น

กลับกัน หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอื่นๆ ของไทยมีสัดส่วนประมาณ 24.5% เมื่อเทียบกับจีดีพี แบ่งเป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 7.4% และหนี้บริโภคอื่นๆ 17.1% ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ นิวซีแลนด์ 3.6% มาเลเซีย 14.3% จีน 12.3% และสิงคโปร์ 2.0%

ความท้าทายของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยให้ได้อย่างยั่งยืนจะไม่ได้อยู่แค่เพียงการลดสัดส่วนของหนี้ครัวเรือน แต่จะอยู่ที่การดูแลให้หนี้สินที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคครัวเรือน และทำให้โครงสร้างหนี้ครัวเรือนไทยมีส่วนผสมของหนี้ที่มีคุณภาพมากขึ้น

ดังนั้น การให้สินเชื่อของเจ้าหนี้ต้องมีการพิจารณาที่เข้มงวดขึ้น เพราะต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ การปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้อย่างมีความรับผิดชอบ หรือการให้สินเชื่อแล้วและแนวทางในการปล่อยสินเชื่อสามารถทำให้ลูกหนี้มีเงินนำมาชำระคืนได้ หรือปล่อยหนี้ที่ก่อรายได้มากกว่าหนี้ที่ไม่ก่อรายได้

เพราะถ้าเจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้เกินความจำเป็น หรือเกินความเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงความจำเป็นต้องใช้ของลูกหนี้ หรือกระตุ้นให้ลูกหนี้ก่อหนี้โดยไม่จำเป็น และจนถึงที่สุดลูกหนี้ไม่มีเงินมาชำระหนี้

สุดท้ายผลกระทบก็เกิดขึ้นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยผลจะตกกระทบต่อธุรกิจที่เกิดหนี้เสียจนน่ากังวล

นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นโจทย์เชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่มีผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากปัจจัยด้านกำลังซื้อลดลง อีกทั้งยังมีนัยต่อเนื่องมาที่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทย ดังนั้น ในช่วงหลังจากนี้อาจเริ่มเห็นการทยอยออกมาตรการและแนวทางเพื่อดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีในปี 2566 มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่สอง มาอยู่ที่กรอบ 84.0-86.5% เนื่องจากผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยในประเทศที่เป็นขาขึ้นและอาจคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าในอดีต

แม้ปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นแรงกดดันที่ทำให้หนี้ครัวเรือนชะลอตัว แต่หนี้ครัวเรือนไม่ถูกแก้ไข หรือลดลง ปัญหาจะยังคงอยู่และไม่หมดไปได้โดยง่าย จากค่าครองชีพปัจจุบันมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง

ดังนั้น สำหรับการผลักดันแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนสู่ภาคปฏิบัติในระยะกลาง-ยาวนั้น หัวใจสำคัญจะอยู่ที่การหาจุดสมดุลระหว่างการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ยืดหยุ่นเพียงพอในการผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการด้านสินเชื่อในประเทศและเงื่อนไขที่เกื้อกูลกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคครัวเรือน โดยไม่ตึงเกินไปจนกลายเป็นการผลักดันให้ผู้บริโภคกลุ่มที่มีข้อจำกัดหลุดออกนอกระบบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image