พิษดอกเบี้ยพุ่ง-แพง ธุรกิจย่อยโดนโขก9% เอสเอ็มอีร่อแร่ 52% เริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว

แฟ้มภาพ

พิษดอกเบี้ยพุ่ง-แพง ธุรกิจย่อยโดนโขก9% สำรวจเอสเอ็มอีพบว่า ร่อแร่52% เริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว ขอรัฐลดต้นทุน-ปรับเกณฑ์แหล่งกู้

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้สำรวจสถานการณ์ด้านหนี้สินของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ช่วงไตรมาส 1/2566(มกราคม-มีนาคม) 2,670 ราย 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ วันที่ 17-25 มีนาคม 2566 พบว่า เอสเอ็มอี 63.7% มีภาระหนี้สินในกิจการ ขณะที่ 10.3% ชำระหนี้แล้วในไตรมาสที่ 1 และอีก 53.4% ยังคงมีหนี้สินอยู่ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน(ตุลาคม-ธันวาคม2565) ซึ่งอยู่ที่ 44.7% แหล่งกู้ยืมเงินของธุรกิจ 86.1% มาจากสถาบันการเงิน ส่วนอีก 13.9% มาจากแหล่งเงินทุนนอกระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะเพื่อนหรือญาติ ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจเกษตรและการค้า โดยเฉพาะร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) รองลงมา คือ ค้าส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค และบริการซ่อมบำรุง วัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน คือ นำมาหมุนเวียนในกิจการมากที่สุด รองลงมาคือ ลงทุนในกิจการและชำระหนี้เดิม ต่างจากไตรมาสก่อนหน้า ที่กู้ยืมเพื่อลงทุนกิจการ เน้นซ่อมแซมหรือตกแต่งสถานประกอบการ

นายวีระพงศ์ กล่าวว่า ภาระหนี้สินส่วนใหญ่ 50,000 บาท ถึง 100,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 3 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า พบว่า ภาระหนี้สินของธุรกิจรายย่อย (กลุ่มไมโคร) สัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่าธุรกิจขนาดอื่น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 6-8% ธุรกิจรายย่อยเสีย 9% สูงกว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เสีย 7% ส่งผลให้เอสเอ็มอีเผชิญกับปัญหาด้านการเงินและภาระหนี้สินจากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและสูงกว่าไตรมาสก่อน นอกจากนี้ 48.3% ชำระหนี้ได้ตามสัญญา แต่มีถึง 51.7% มีปัญหาชำระหนี้ ทั้งผิดเงื่อนไขและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา สูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาขอรับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน/แหล่งเงินทุน โดย 7.4% ขอปรับโครงสร้างหนี้เพื่อปรับรูปแบบการชำระหนี้

Advertisement

“ปัญหาสำคัญมากที่สุดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระดับสูง ขาดข้อมูลข่าวสารจากแหล่งเงินทุน และคุณสมบัติของธุรกิจไม่ผ่านตามเงื่อนไขของสถาบันการเงิน และสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ ลดอัตราดอกเบี้ย และให้สถาบันการเงินของภาครัฐช่วยเหลือธุรกิจรายเล็กโดยเฉพาะที่ต้องการเงื่อนไขการขอกู้ต่างจากคุณสมบัติที่ธนาคารทั่วไปกำหนดไว้ เพื่อนำเงินไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ”นายวีระพงศ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image