กระอัก! กกร.ชี้ สินค้าจ่อขึ้นรอบ 2 หลังค่าไฟพุ่งแรง หวั่นภัยแล้งซ้ำเติม เล็งชง ‘นายก’ เตรียมแผนรับมือ

กระอัก! กกร.เผย สินค้าจ่อขยับรอบ 2 หลังต้นทุนค่าไฟพุ่งแรง หวั่นภัยแล้งซ้ำเติม เล็งร่อนหนังสือถึง ‘นายก’ เตรียมแผนรับมือ

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ณ เดือนพฤษภาคม ยังคงการคาดการณ์เดิมว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.0-3.5% ตัวเลขการส่งออก ติดลบที่ 1.0-0.0% อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 2.7-3.2%

ขณะที่เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยว ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2566 มีโอกาสแตะระดับ 30 ล้านคน สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 28 ล้านคน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้จีดีพีช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก

Advertisement

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ขณะเดียวกันภาวะต้นทุนยังอยู่ในระดับสูงและอาจปรับตัวลงช้า ราคาในตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลัก ยังทรงตัวในระดับสูงและมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนยังไม่สิ้นสุด

เช่นเดียวกับในกรณีของประเทศไทย ที่ผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า เพื่อส่งผ่านภาระต้นทุนต่อไปในระยะข้างหน้า ผลกระทบจากราคาสินค้าและต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยกดดันภาคธุรกิจและครัวเรือนต่อไป ทั้งนี้ ต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้ง ที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ที่อาจซ้ำเติมราคาอาหารภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ทั้งนี้ กกร. มีความกังวลต่อความเสี่ยงภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออก ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 และอาจรุนแรงติดต่อกันมากถึง 3-5 ปี ปรากฏการณ์เอลนิโญในครั้งนี้ จะทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะมีปริมาณลดลง และทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน

Advertisement

ดังนั้น กกร. จึงเห็นควรให้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยด่วนที่สุด เพื่อขอให้พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปี และระยะยาว เพื่อเร่งวางมาตรการรับมือภัยแล้ง และเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำภาคตะวันออกให้แล้วเสร็จตามแผน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น

“ต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเฉลี่ยประมาณ 5-10% หากไทยได้รับผลกระทบภัยแล้งและน้ำน้อย ซึ่งต้องรีบกักเก็บน้ำตอนนี้ เพราะถ้าไปเก็บช่วงเสี่ยงน้ำน้อย น้ำจะมีราคาแพง และจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรจะออกน้อยลง ส่งผลให้ราคาสินค้าประเภทต่างๆ จะถูกปรับขึ้นอีกครั้ง หากรัฐไม่มีแผนตั้งรับ” นายเกรียงไกรกล่าว

นางเกรียงไกรกล่าวว่า นอกจากนี้ ต้องเตรียมการใช้น้ำจำนวนมาก เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตร เช่น ปีนี้ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนประมาณ 7 แสนตัน มีมูลค่า 1 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งการใช้น้ำเพื่อเลี้ยงผลผลิตจากเดิมอยู่ที่ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ต้องใช้ถึง 150 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณการใช้ขึ้นอยู่กับผลิตผลที่ส่งออก แม้ปีนี้จะไม่มีปัญหาแต่ปลายปีน้ำแล้ง ทำให้ส่งออดผลผลิตปีหน้าจะได้รับผลกระทบ

นายเกรียงไกรกล่าวว่า สำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ที่ปรับอยู่ที่ระดับ 4.70 บาทต่อหน่วย ส่งผลต่อราคาสินค้าบางประเภทที่ปรับขึ้นบ้างแล้ว ซึ่งส่วนนี้อยากฝากเรื่องถึงกระทรวงพาณิชย์ให้ติดตามราคาสินค้าให้อยู่ระดับเหมาะสม ซึ่งที่กระทรวงพาณิชย์สามารถดูแลได้แน่นอนคือสินค้าควบคุม แต่สินค้าที่ควบคุมไม่ได้ก็อยากขอร้องให้ปรับราคาอย่างเหมาะสมต่อต้นทุนผู้ประกอบธุรกิจ และคำนึงถึงรายจ่ายของประชาชนด้วย เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันสูงขึ้นมีการปรับราคาสินค้าแล้ว 1 ครั้ง และขณะนี้จะมีการปรับขึ้นเป็นตรั้งที่ 2 จากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิต

“สิ่งเหล่านี้รอรัฐบาลใหม่ เพราะค่าไฟฟ้าน่าจะถูกปรับแล้วที่ 4.70 บาทต่อหน่วย และแก้ไขไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลใหม่ได้ทำงานร่วมกันใกล้ชิด แม้ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้ง กรอ.พลังงาน และทำข้อตกลงระหว่างรัฐ-เอกชน แต่เป็นเพียงข้อตกลงที่ไม่มีข้อสรุป จึงหวังว่าจากนี้ถ้ามีการตกลงแล้วอยากให้แก้ไขทันที เพราะถ้าไม่แก้ไขจะเป็นปัญหาและภาระต่อประชาชน” นายเกรียงไกรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image