หนุนไทยใช้อีวี ปลุกเศรษฐกิจ

หนุนไทยใช้อีวี
ปลุกเศรษฐกิจ

ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือรถอีวี ติดเทรนด์ความนิยมจากคนไทยอย่างมาก และในช่วงหลายปีจากนี้ เชื่อว่า รถอีวี จะยังได้รับความสนใจไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากเชื้อเพลิงที่สอดรับกับเทรนด์ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

แนวทางการสนับสนุนอีวีของไทย ไม่เพียงเน้นกลุ่มอีวีป้ายแดง แต่ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรืออีวีคอนเวอร์ชั่น เพื่อช่วยผู้ใช้รถยนต์เก่าในไทยได้ใช้รถอีวีในราคาที่เอื้อมถึง

ข้อมูลกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า เดือนมกราคม-มีนาคม 2566 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (บีอีวี) จดทะเบียนใหม่สะสม 21,052 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-มีนาคมปีที่แล้ว 624.93% เมื่อเก็บข้อมูลยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท บีอีวี ตั้งแต่เริ่มต้นถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 53,087 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 272.41% ส.อ.ท.ประเมินว่า ตลอดปี 2566 บีอีวีป้ายแดงในไทยจะพุ่งแตะ 40,000 คัน

Advertisement

หากกลุ่มราคาถูกเข้ามาเล่นในตลาดมากขึ้น คันละ 300,000-500,000 บาท มีโอกาสยอดขายจะพุ่งถึง 50,000-60,000 คันทีเดียว

ตัวเร่งสำคัญมาจากการจ่ายเงินชดเชยตามมาตรการอีวีของกรมสรรพสามิต รถยนต์อีวีได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน

โดย 13 ค่ายรถอีวีร่วมมาตรการ ขายแล้ว 7,200 คัน เงินชดเชยสะสม 806 ล้านบาท จากกรอบงบประมาณ 2,900 ล้านบาท

Advertisement

ดังนั้น เป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) กำหนดให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค ยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปี 2573 รวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท ก็คงไม่ยากนัก

เรื่องนี้ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการบอร์ดอีวี ให้ความเห็นว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐทำให้มีราคาลดลง ผู้บริโภคเริ่มให้ความเชื่อมั่นในมาตรฐานมากขึ้น ประกอบกับค่ายรถยนต์มีการเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่หลากหลาย รวมถึงแคมเปญกระตุ้นยอดขายที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ เพื่อคุ้มครองผู้ใช้รถ กระทรวงอุตสาหกรรมได้สนับสนุนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ การจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ หรือศูนย์ทดสอบ ATTRIC แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน

ปลัดณัฐพล ระบุว่า ปีนี้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าคึกคัก ไม่เพียงด้านยอดขายในประเทศ แต่ด้านการลงทุนจากบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจากทั่วโลกก็สนใจเข้าลงทุนในประเทศไทยเช่นกัน

หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีนที่ตอบรับลงทุนไทยแล้ว คือ ค่าย จีเอซี ไอออน จะเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทย ตั้งเป้าผลิตรถอีวีในไทย 100,000 คันต่อปี มูลค่าการลงทุน 6,400 ล้านบาท

อีกค่ายรถจีนลงทุนไทยเช่นกัน บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า เงินลงทุน 9,800 ล้านบาท กำลังการผลิตระยะแรก 1 แสนคันต่อปี

บีโอไอยังรวบรวมตัวเลขอนุมัติโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทช่วงที่ผ่านมารวม 26 โครงการ จาก 17 บริษัท รวมมูลค่า 86,800 ล้านบาท

ตรวจสอบวาระบอร์ดอีวีที่พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ทันทีที่ได้รัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศ แบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก

1.มาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตลดเหลือ 1% เงินสนับสนุนวงเงิน 24,000 ล้านบาทสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย บนหลักการลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน

2.มาตรการอีวี3.5 เพิ่มเติมจากมาตรการอีวี3 เพื่อเปิดให้ค่ายรถยนต์ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาทที่ร่วมมาตรการไม่ทัน อาทิ ค่ายรถยนต์ยุโรป โดยเฉพาะบีเอ็มและเบนซ์ ค่ายอเมริกา ค่ายจีน และญี่ปุ่น ที่ยังไม่ตัดสินใจลงทุน เพราะมาตรการจะสิ้นสุดปลายปี 2566 โดยสิทธิประโยชน์ของมาตรการอีวี3.5 จะเข้มข้นขึ้น การนำรถเข้ามาขายต้องควบคู่กับการตั้งโรงงานผลิตในไทย เพื่อเป็นธรรมกับค่ายรถที่ลงทุนช่วงแรก ซึ่งแบกรับความเสี่ยงมากกว่า

นอกจากมาตรการสนับสนุนการผลิตและตลาดในประเทศ บอร์ดอีวียังให้ความสำคัญกับกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรืออีวีคอนเวอร์ชั่น เพื่อช่วยผู้ใช้รถยนต์เก่าใช้รถอีวีในราคาเอื้อมถึง

แนวทางหลักคือการผลักดันอีวีใช้ในหน่วยงานราชการ ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้แผนอีวีทั้งระบบ ไม่เกิดผลกระทบทางลบอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย

ล่าสุด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมอีวีคอนเวอร์ชั่น นำร่องดัดแปลงรถยนต์ราชการคันเก่าเป็นรถยนต์ราชการไฟฟ้า หวังใช้เป็นรถยนต์ราชการต้นแบบในการปฏิบัติราชการ คาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 100 ล้านบาทเลยทีเดียว

ใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีดีพร้อม ให้ข้อมูลว่า ดีพร้อมตระหนักถึงการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น ความผันผวนของราคาพลังงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดความเป็นกลางทางคาร์บอน ดังนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และมติบอร์ดอีวีที่ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 725,000 คัน ภายในปี 2573 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนพัฒนาสถานประกอบการ ผู้ประกอบการ บุคลากร และแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมพร้อมรับมือกับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่

ปี 2566 ดีพร้อมดำเนินการ 2 ส่วนหลัก

1.พัฒนาต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยการนำรถยนต์ราชการที่มีสภาพเก่าเครื่องยนต์สันดาปภายในจำนวน 2 คัน ได้แก่ รถมินิบัสและรถตู้ ที่ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซมสูง ใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง ปล่อยก๊าซเรือนกระจก พีเอ็ม2.5 และไอเสีย มาดัดแปลงเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าที่อยู่ในแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน เปลี่ยนต้นกำลังจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า

นอกจากการนำต้นแบบรถยนต์ราชการไฟฟ้าดัดแปลงมาใช้ในการปฏิบัติราชการแล้วนั้น ยังสามารถใช้เป็นรถสวัสดิการรับส่งให้กับเจ้าหน้าที่ พนักงาน และบุคลากรในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมถึงสามารถใช้ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง จะก่อให้เกิดการสร้างอาชีพในการดัดแปลงและการซ่อมบำรุงรักษายานยนต์ไฟฟ้ารวมถึงเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพิ่มขึ้นอีกด้วย คาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 100 ล้านบาท

2.สนับสนุนผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในเครือข่ายดีพร้อม อาทิ สมาคม Thai Subcon มีประมาณ 400 กว่าราย ให้ปรับตัวไปผลิตชิ้นส่วนป้อนอีวี เบื้องต้นดีพร้อมได้ดำเนินการไปแล้ว โดยได้เจรจาความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของรถยนต์ไฟฟ้าระหว่างไทยกับเกาหลีผ่านทางสถาบันยานยนต์ของไทย กับ สถาบันยานยนต์เกาหลี โดยมีการเอ็มโอยูร่วมกันในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนด้านรถยนต์ไฟฟ้าให้กับบริษัทในไทย

รวมทั้งมีการเจรจาให้สถาบันยานยนต์เกาหลีดึงบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของเกาหลีมาลงทุนในไทยโดยเสนอสิทธิพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อธิบดีดีพร้อมทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image