คาดเปิดเทอมใช้จ่ายสะพัดเฉียด 5.8 หมื่นล้าน ชี้ต้องเตรียมเงินเพิ่มจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ-เครื่องแบบ

คาดเปิดเทอมใช้จ่ายสะพัดเฉียด 5.8 หมื่นล้าน ชี้ต้องเตรียมเงินเพิ่มจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ-เครื่องแบบ ผู้ปกครองหันพึ่งกู้แบงก์-กดเงินบัตรเครดิต

วันที่ 8 พฤษภาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจผู้ปกครองด้านค่าใช้จ่ายบุตรหลานในการเปิดเทอมภาคการศึกษาปี 2566 ซึ่งเป็นการกลับมาสำรวจอีกครั้งจากที่ไม่ได้ทำการทำสำรวจช่วงโควิดระบาดปี2563-65 โดยครั้งนี้สำรวจประชาชน 1,230 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-5 พฤษภาคม 2566 พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 38% ระบุค่าใช้จ่ายโดยรวมเปิดเทอมปีนี้เพิ่มขึ้น และอีก 37.8% ระบุว่าเท่าเดิม โดยเฉพาะการใช้จ่ายค่าบำรุงโรงเรียน(แป๊ะเจี๊ยะ)และเครื่องแบบนักเรียนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเปิดเทอมปีนี้อยู่ที่ 19,508 บาท/ครัวเรือน และคาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมปีนี้โดยรวม 57,886 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.30% เทียบปี 2562 ที่มีมูลค่า 54,972 ล้านบาท ซึ่งปีนี้ถือว่ามีมูลค่าสูงสุดนับจากที่ได้ทำการสำรวจมา 14 ปี

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า บรรยากาศใช้จ่ายเปิดเทอมปีนี้ถือว่าคึกคัก เพราะการเรียนการสอนกลับเข้าภาวะปกติ โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่ ระบุว่าพร้อมจะใช้จ่ายแต่ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง สะท้อนได้จากผู้ปกครอง 66% ระบุมีหนี้ครัวเรือน เฉลี่ย 340,750 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 24.70% จากปีก่อน แต่การศึกษาบุตรหลานเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นปรับตัวโดยส่วนใหญ่ซื้อจำนวนชิ้นลดลง ชดเชยกับราคาสินค้าและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น บางส่วนต้องดึงเงินออมมาใช้มากขึ้น 1ใน3ของกลุ่มสำรวจระบุต้องหันพึ่งพาเงินกู้ หรือเบิกเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้ก่อน ทำให้ผู้ปกครอง 63.5% ระบุเตรียมเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายเปิดเทอมของบุตรหลาน ซึ่งดีขึ้นกว่าปี 2562 อยู่ที่ 60.5% อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิดช่วงเปิดเทอมลดลง เพราะได้รับวัคซีนแล้วและเชื่อว่าโรงเรียนมีรการป้องกันที่ดี และ 55.5% มองว่าการเรียนที่การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทนไปโรงเรียนจะเกิดผลเสียมาก และกังวลถูกหลอกและสิ้นเปลืองเงิน นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังให้ความสำคัญกับการเรียนพิเศษ และหนี้สินไม่มีผลต่อการศึกษาของบุตรหลาน

นายธนวรรธน์ กล่าวถึงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายพรรคการเมืองกับด้านการศึกษา พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นด้วยและต้องการในเรื่องการลดต้นทุน อันดับแรกคือ ให้อาหารฟรีกับนักเรียน ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายหรือควบคุมราคาสินค้าเพื่อการเรียน ตามด้วย กำจัดระเบียบแป๊ะเจี๊ยะ และ มีโรงเรียน 2 ภาษาในท้องถิ่น ขณะนี้ต้องการให้รัฐบาลใหม่ เพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการศึกษาที่มีศักยภาพเพียงพอ ปรับปรุงหลักสูตรเพื่อรองรับนโยบายแข่งขันของประเทศ พัฒนาโรงเรียนรัฐบาลให้เทียบเท่าเอกชน และเพิ่มเวลาให้ครูสอนเด็ก เพื่อลดภาระด้านอื่น เช่น เรียนพิเศษ และค่าใช้จ่ายเดินทาง คงเงินกู้ผ่านกยศ. เป็นต้น

Advertisement

“ ความคึกคักของเปิดเทอม ด้วยเข้าภาวะการเรียนเหมือนปกติ หลังเจอโควิดมา 3 ปี เสื้อผ้ารองเท้าจึงมีการซื้อเพิ่มหรือซื้อเปลี่ยน โดยข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลใหม่ยังต้องเป็นเรื่องเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย ทำให้ทุกพรรคการเมืองมองเรื่องเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและเติมเงินในระบบในการหาเสียง ซึ่งการสำรวจสะท้อนได้ว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้น แต่ฟื้นแบบวีเชฟ (V-Shape) “ นายธนวรรธน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image