“ดีอี”เชื่อ”บล็อกเชน” ช่วยขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล-ด้านดีแทคแนะปรับตัวก่อนเพื่อความได้เปรียบ

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาในงานเสวนาเรื่อง “Blockchain Revolution for Government Agencies and Thai Society” ว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือและการสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ กระทรวงดีอี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เนื่องจากทุกฝ่ายได้เล็งเห็นความสำคัญของการกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐ ได้รับรู้และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยียุคดิจิทัล ที่จะผลักดันให้เกิดการออกแบบนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อมาสนับสนุนในการบริหารราชการยุคใหม่

นางวรรณพร กล่าวว่า สำหรับการการนำเทคโนโลยี บล็อกเชน(การทำธุรกรรมทางการเงิน โดยตัดคนกลาง หรือสถาบันการเงิน ออกไป) มาเป็นระบบกลางในการใช้งานภาครัฐ เพื่อเป็นการสนับสนุนแนวนโยบายของรัฐบาล ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนารัฐบาลดิจิทัลภายใต้แผนรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ระยะที่ 2 เนื่องจากขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล และใช้ บล็อกเชน เป็นกลไกในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่กระจายอยู่ทั่วโลก ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยสูงสุด เพื่อการสร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมต่างๆ อีกทั้งกระทรวงดีอีเชื่อว่าการจัดกิจกรรมเสวนาในครั้งนี้ จะเป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักต่อการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของภาครัฐ เพื่อการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลภายใต้นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า บล็อกเชน คือ นวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่ไม่ใช่แค่พลิกโฉมประเทศไทย แต่จะรวมถึงพลิกโฉมประเทศต่างๆ ในโลก ซึ่งนอกจากบล็อกเชนจะเข้ามาปฏิวัติโลกธุรกิจ และแวดวงการเงินการธนาคารแล้ว ยังจะเข้ามายกระดับและเปลี่ยนวิถีชีวิตประชาชนทั่วไปเฉกเช่นเดียวกันกับอิทธิพลของโลกออนไลน์ในขณะนี้ ถึงแม้เทคโนโลยีบล็อกเชนจะยังคงใหม่และต้องใช้เวลากว่าจะมีการใช้อย่างแพร่หลายในสังคม แต่เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่พร้อมและการเสียโอกาสจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีใหม่ๆ นักวางแผน นักกลยุทธ์ ตลอดจนผู้กำหนดนโยบายภาครัฐต่างๆ รวมถึงกิจการโทรคมนาคม ควรตระหนักถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบในกิจการโทรคมนาคมอย่างฉับพลันในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมต่อโอกาสและความท้าทายในอนาคตจะทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบ เมื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านั้นพร้อมให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยกำลังประสบและเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมเทคโนโลยีในอนาคต คือ “กรอบนโยบายที่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในอนาคต” เพื่อรองรับต่อปริมาณการใช้ข้อมูลมหาศาลหรือ “บิ๊กดาต้า” อันเกิดจากเทคโนโลยีการสื่อสารในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น 5จี และ Internet of Things (ไอโอที) ซึ่งเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า

Advertisement

“เป้าหมายของการส่งเสริมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น “บล็อกเชน” รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ มาขับเคลื่อนและสนับสนุนสู่ศักยภาพการแข่งขัน โดยเฉพาะภาครัฐที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ กรอบแผนงานเหล่านี้ควรมุ่งเน้นให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาของภาคธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ และขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่างๆ จะได้มุ่งสู่ประชาชนในการเข้าถึงการใช้งานอย่างแท้จริง รวมถึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และความถี่ต่างๆ เพื่อนำมาใช้งานในประเทศไทยด้วยศักยภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน” นายลาร์ส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image