สถาบันอาหาร คาดไทยส่งออกทั้งปี 1.5 ล้านล้าน ฝาก รบ.ใหม่ ‘ลดต้นทุน-เพิ่มขีดแข่งขัน’

แฟ้มภาพ

สถาบันอาหาร คาดไทยส่งออกทั้งปี 1.5 ล้านล้าน จี้รัฐบาลใหม่ ‘ลดต้นทุน-เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน’

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าอาหารของไทยในไตรมาสแรกปี 2566 มีมูลค่า 346,379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เทียบไตรมาสแรกปีก่อน ปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ภัยสงคราม สภาพอากาศร้อนและความแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงการที่จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการซีโร่-โควิด ได้เกื้อหนุนการส่งออกอาหารไทยให้ขยายตัว

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวดีในช่วงไตรมาสแรกปี 2566 อาทิ น้ำตาลทราย ข้าว ไก่ ผลไม้สด โดย น้ำตาลทราย ส่งออก 40,310 ล้านบาท เพิ่ม 37.3% เนื่องจากหลายประเทศกังวลปัญหาขาดแคลนอาหาร จึงสต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างอินเดียได้ต่ออายุมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลออกอีก 1 ปี ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์

ส่วน ข้าว ส่งออก 38,066 ล้านบาท เพิ่ม 29.2% เนื่องจากผลผลิตข้าวที่มีจำกัดในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสำคัญและความกังวลขาดแคลนอาหาร ทำให้ประเทศผู้บริโภคเสริมสต๊อกข้าวเพิ่มขึ้น

Advertisement

ไก่ มีมูลค่า 36,215 ล้านบาท เพิ่ม 14.7% โดยเป็นไก่สดแช่แข็งที่ส่งออกไปจีนเป็นหลัก ส่วนไก่แปรรูปขยายตัวดีในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป สำหรับ ผลไม้สด ส่งออก 27,477 ล้านบาท เพิ่ม 59.4% จากการส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก หลังจีนยกเลิกมาตรการซีโร่-โควิด ทำให้ระยะเวลาขนส่งสินค้าสั้นลง ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น

นางอนงค์กล่าวต่อว่า ขณะที่สินค้าส่งออกหลักหลายรายการหดตัวลง ส่วนใหญ่ประสบปัญหา 2 ด้าน คือ 1.วัตถุดิบมีปริมาณลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง สับปะรด และ 2.ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลทำให้สินค้าที่พึ่งพิงตลาดหลักดังกล่าวหดตัวลง เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องปรุงรส เป็นต้น นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนค่าต่อเนื่อง กระทบความสามารถในการนำเข้าของญี่ปุ่น ส่งผลทำให้สินค้าอาหารส่งออกของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นหลายรายการหดตัวลงค่อนข้างมาก อาทิ ไก่ ลบ 6% กุ้ง ลบ 20% สับปะรด ลบ 40% เครื่องปรุงรส ลบ 40% เป็นต้น

“แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น สหรัฐ และสหภาพยุโรปจะหดตัวลงจากความกังวลปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงเงินเยนอ่อนค่ากรณีตลาดญี่ปุ่น แต่การส่งออกสินค้าไปยังตลาดตลาดรอง หรือตลาดใหม่ เช่น เอเชียใต้ กลุ่มประเทศอ่าว (GCC) ละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศประชาคมรัฐเอกราช (CIS) ขยายตัวในระดับสูง รอการรุกตลาดและเพิ่มพูนปริมาณการค้าอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต” ผอ.สถาบันอาหารระบุ

Advertisement

ผอ.สถาบันอาหารกล่าวถึงแนวโน้มช่วงที่เหลือของปี 2566 ว่าไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารจะหดตัวลง เนื่องจากฐานการส่งออกไตรมาสสองปีก่อนสูงมาก และจะฟื้นตัวครึ่งปีหลัง โดยช่วงครึ่งปีแรกคาดส่งออกสินค้าอาหาร มูลค่า 734,459 ล้านบาท ลดล 1% ผลจากไตรมาส 2 ปีนี้คาดติดลบ 9% และกลับมาขยายตัว 5.2% ในครึ่งปีหลัง และมีมูลค่าส่งออก 765,541 ล้านบาท ไตรมาส 3 บวก 5.5% และไตรมาส 4 บวก 4.8% ส่งผลส่งออกสินค้าอาหารของไทยทั้งปี 2566 จะมีมูลค่า 1,500,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% หากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ของการส่งออกอาหาร

ผอ.สถาบันอาหารกล่าวด้วยว่า ปัจจัยสนับสนุนหลัก มาจาก 1.ภาครัฐมีนโยบายฟื้นฟูและการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว บริการ การค้าและการลงทุน 2.การขาดแคลนอาหารตลอด Supply Chain ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นในตลาดประเทศกำลังพัฒนาและตลาดในภูมิภาคตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 3.ความกังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร ทำให้หลายประเทศและผู้บริโภคมีความต้องการสำรองอาหารเพิ่มมากขึ้น 4.ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดผู้นำเข้าทั่วโลก และ 5.จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระยะเวลาในการขนส่งสั้นลง โดยเฉพาะสินค้าที่มีตลาดทางตอนใต้ของจีน เช่น ไก่แช่แข็ง เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังมี ปัจจัยเสี่ยงส่งผลต่อการส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่ 1.ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงาน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส เป็นต้น 2.ความกังวลของเศรษฐกิจไทยอันเนื่องมาจากความผันผวนของค่าเงิน 3.ความกังวลภาวะเศรษฐกิจและปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐฯ กระทบกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 4.เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของคนญี่ปุ่น และความสามารถในการนำเข้าสินค้าจากภายนอก 5.ภาวะเงินเฟ้อยังคงกดดันกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาที่เป็นตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และ 6.ผลผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบสำคัญลดปริมาณลง และราคาปรับตัวสูง เช่น สับปะรดโรงงาน หัวมันสำปะหลัง กุ้ง ปลาทูน่า เป็นต้น

นางอนงค์กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารคือรากฐานและเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ หากได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนฐานราก ท้ายที่สุดจะช่วยยกระดับประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูง จึงฝากข้อเสนอสำหรับรัฐบาลใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ โดยเน้นเป้าประสงค์ 3 ข้อ พร้อมมาตรการสนับสนุน ประกอบด้วย

1.ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีภูมิคุ้มกันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงโลก ได้แก่ สนับสนุนการทำเกษตรแบบรวมผลิต รวมจำหน่าย (เกษตรแปลงใหญ่หรือสหกรณ์) สนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการให้เข้าถึงนวัตกรรม เทคโนโลยี แหล่งเงินทุน และมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ สนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อผลักดันผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตยั่งยืน และเป็นแกนกลางสำคัญในการขยายเครือข่ายความร่วมมือไปสู่ระดับการผลิตต้นน้ำในระดับฐานราก

2.สร้างระบบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ภายใต้ BCG โมเดล ได้แก่ สนับสนุนนโยบายการดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดล BCG & ESG ให้สามารถเปลี่ยนถ่ายได้โดยไม่ได้มีต้นทุนที่สูง รวมถึงประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในห่วงโซ่อาหารเพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และ ส่งเสริมการพัฒนาการประกอบธุรกิจ โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

3.ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูงด้วยอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ สนับสนุนผู้ประกอบการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ในการยกระดับสินค้าพื้นฐานไปสู่อาหารอนาคต มาตรการผลักดันการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง จากการที่ไทยมีอาหารเป็นซอฟต์เพาเวอร์ พร้อมจัดทำแผนงานและงบประมาณสนับสนุน และจัดตั้งหน่วยงานหลักและสนับสนุนงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image