‘ทีเอชเอ’ มองท่องเที่ยวฟื้นแล้ว ย้ำอยากเห็นนายกฯ คนใหม่ให้ความสำคัญมากขึ้น

‘ทีเอชเอ’ ชี้ผู้ประกอบการมองท่องเที่ยวฟื้นแล้ว ย้ำอยากเห็นนายกฯ คนใหม่ให้ความสำคัญมากขึ้น

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม ประจำเดือนเมษายน 2566 จัดทำร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในระหว่างวันที่ 10-25 เมษายน ที่ผ่านมา มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 81 แห่ง พบว่า มี 29% ที่มองถึงภาพรวมการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น ผ่านการมีจำนวนลูกค้าต่างชาติกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด-19 แล้ว ส่วนอีก 27% คาดว่าจะกลับมาเป็นปกติภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รวมถึงมีโรงแรมบางส่วนประเมินว่าลูกค้าต่างชาติจะกลับมาเท่ากับก่อนโควิดได้ในปี 2567 ในช่วงไตรมาส 1 ประมาณ 16% หรือไตรมาส 4 ประมาณ 15% เนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น)

“นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง 2566 ภาคเอกชนธุรกิจโรงแรมและธุรกิจเชื่อมโยง ต้องการให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ให้ความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวเป็นลำดับต้น และวางรากฐานการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนสู่อนาคต และขอให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นเซ็กเตอร์สำคัญ สร้างรายได้หลักแก่ประเทศไทยต่อไป” นางมาริสา กล่าว

นางมาริสา กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 มีกว่า 58% ที่มีแผนจะลงทุนในปีนี้ แต่ยังไม่แน่ใจอีก 25% และไม่มีแผนลงทุน 17% ส่วนประเด็นเม็ดเงินลงทุน กลุ่มโรงแรมที่มีแผนลงทุน ส่วนใหญ่กว่า 77% จะใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดย 28% ของผู้ตอบระบุว่าจะใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ขณะที่ 26% ของผู้ตอบจะใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 11-20% ส่วนอีก 23% ของผู้ตอบจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 10% ด้าน 13% ของผู้ตอบระบุว่าจะใช้เงินลงทุนเท่ากับปี 2565 โดยมีการประเมินอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ในปัจจุบันเทียบกับก่อนเกิดโควิด พบว่าโรงแรม 60% มีอัตรากำไรสุทธิในปัจจุบันยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ส่วนอีก 32% มีอัตรากำไรสุทธิใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และอีก 8% มีอัตรากำไรสุทธิมากกว่าช่วงก่อนโควิดระบาดแล้ว

“ตอนนี้โรงแรมส่วนใหญ่กว่า 87% เน้นลงทุนเพื่อปรับปรุงหรือซ่อมแซมห้องพัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งตลาดไทยและต่างชาติ รองลงมาเป็นการลงทุนด้านระบบไอทีและซอฟต์แวร์ 38% การลงทุนระบบออโตเมชั่น 19% การลงทุนขยายอาคารหรือสาขา 9% และการควบรวมและเข้าถือกิจการ 2% โดยตอนนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการลงทุน เป็นเรื่องต้นทุนบริหาร อาทิ ค่าแรง ค่าไฟ เป็นอุปสรรคในการลงทุนอันดับแรก รองลงมาเป็นเรื่องความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ตามลำดับ” นางมาริสา กล่าว

Advertisement

นางมาริสา กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินงานของโรงแรม อัตราการเข้าพักเดือนเมษายน อยู่ที่ 57% ลดลงจากเดือนมีนาคม ซึ่งอยู่ที่ 66% โดยลดลงในเกือบทุกภูมิภาคตามการเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเข้าพักในภาคเหนือ แต่อัตราการเข้าพักของภาคตะวันออกปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลดีจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 เพราะไม่ไกลจากเขตเมืองและสามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ ทั้งนี้คาดการณ์อัตราการเข้าพักเดือนพฤษภาคมนี้ ลดลงอยู่ที่ 47% โดยลูกค้าหลักส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้าต่างชาติ แต่ในภาพรวมสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% คิดเป็น 57% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ลดลงจากเดือนก่อน หากพิจารณากลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพัก ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลาง รองลงมาคือยุโรปตะวันตก

นางมาริสา กล่าวว่า สถานการณ์การจ้างงาน ผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ 68% ยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่ง 40% ของผู้ตอบเห็นว่าปัญหาดังกล่าวกระทบคุณภาพการให้บริการ แต่ไม่กระทบจำนวนลูกค้าที่รับได้ ส่วนโรงแรมอีก 22% ระบุว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งคุณภาพการให้บริการและจำนวนลูกค้าที่รับได้ โดยเฉพาะโรงแรมในภาคตะวันออก ที่มีอัตราการเข้าพักเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น จึงต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานและกระทบต่อการให้บริการมากขึ้น ทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

นางมาริสา กล่าวว่า แม้สถานการณ์การท่องเที่ยวและโรงแรมจะฟื้นตัวดีขึ้นจากวิกฤตโควิด แต่ยังหวังว่า ภาครัฐจะยังคงผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องกับกระแสนิยมของนักท่องเที่ยว เพราะขณะนีิประเทศไทยถูกจารึกบนแผนที่โลกในฐานะเมืองท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก โดยกรุงเทพฯ มีชื่อเสียงเหมือนนิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส และโตเกียว จึงอยากให้ภาคท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติของทุกกระทรวง เพราะภาคท่องเที่ยวสร้างผลทวีคูณ (Multiplier Effect) ถึงระดับฐานราก มีศูนย์กลางการพัฒนาภาคท่องเที่ยว ให้เป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ร่วมกันวางกลยุทธ์สอดรับการเติบโต โดยโรงแรมส่วนใหญ่ยังต้องการให้มีมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน อย่างต่อเนื่อง และบางส่วนต้องการให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวเหลือ 5% ให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการเพิ่มเที่ยวบิน และการบริหารจัดการสนามบินให้เพียงพอต่อการรับนักท่องเที่ยว รวมถึงดูแลอัตราค่าโดยสารเครื่องบินที่ยังอยู่ระดับสูง เพราะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจมาท่องเที่ยว รวมถึงการช่วยเหลือด้านเงินทุนด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image