เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน กสิกรฯคาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 35.60-35.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ

แฟ้มภาพ

“เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน ขณะที่หุ้นไทยปรับลดลง จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรปุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 35.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ จากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เฟดมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามที่คาด พร้อมกับ dot plot ที่ส่งสัญญาณว่า จังหวะการขยับดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้าอาจเร่งขึ้นกว่าเดิมเป็น 3 ครั้ง (จากเดิมในเดือนก.ย. ที่สะท้อนการขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง) นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงกดดันจากแรงขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

สำหรับในวันศุกร์ (16 ธ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (9 ธ.ค.)

เงินบาท12-16ธ.ค.

Advertisement

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (19-23 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.60-35.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศจะอยู่ที่ผลการประชุมกนง. ในช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองเดือนพ.ย. ดัชนี PMI ภาคบริการ ขั้นต้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. จีดีพีประจำไตรมาส 3/2559 นอกจากนี้ นักลงทุนอาจมีจุดสนใจเพิ่มเติมที่ตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนด้วยเช่นกัน

ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,522.51 จุด ลดลง 0.25% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้น 10.1% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 48,860.13 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 604.07 จุด เพิ่มขึ้น 0.58% จากสัปดาห์ก่อน

set

Advertisement

ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นในวันอังคาร จากแรงหนุนของหุ้นกลุ่มพลังงาน ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงกลางสัปดาห์ โดยนักลงทุนปรับลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง ในช่วงการประชุมนโยบายการเงินของเฟด ก่อนที่จะปรับลดลงต่อในวันพฤหัสบดี หลังเฟดตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี ดัชนีปรับฟื้นตัวเล็กน้อยในวันศุกร์ จากแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (19-23 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,510 และ 1,500 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,530 และ 1,540 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ตลอดจนภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/59 (Final Est) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดขายบ้านใหม่ ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image