ขร.รอส่ง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง เข้าสภา ลุยวาระ 2 จ่อดันออกใบขับขี่ ‘คนขับรถไฟ’ เทียบสากล

ขร.เตรียมส่ง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง หวังรัฐบาลใหม่สานต่อ จ่อดันออกใบขับขี่ ‘คนขับรถไฟ’ เทียบสากล

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ภายหลังจากรัฐบาลจัดตั้งแล้วเสร็จ กรมจะออกกฎระเบียบที่เป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. … หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่าง เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวาระที่ 1 ซึ่งส่งเรื่องไม่ทันการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 2 เนื่องจากได้ปิดการประชุมสภาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ร่าง พ.ร.บ.จึงต้องตกไป

นายอธิภูกล่าวว่า ดังนั้น เมื่อตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จกรมจะเดินหน้าดำเนินการ ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางทันที โดยจะส่งร่าง พ.ร.บ.ที่รอการพิจารณาค้างไว้ เสนอกลับเข้าไปเพื่อดำเนินการต่อในวาระที่ 2 โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ร้องขอไปที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560

“เมื่อเปิดสภาและรัฐบาลใหม่จัดตั้งแล้วเสร็จ กรมจะเสนอ พ.ร.บ.เข้าที่ประชุม ครม. โดยที่จะมีการออกกฎหมายลูกที่เตรียมไว้ให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของประชาชนจะสามารถเสนอให้ต่อเนื่อง และนำไปใช้ได้ทันทีที่มีผลบังคับใช้” นายอธิภูกล่าว

Advertisement

นายอธิภูกล่าวว่า ระหว่างรอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางจากสภาชุดใหม่ กรมได้ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายลำดับรอง ประกาศ ระเบียบต่างๆ คู่ขนาน โดยการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล เพื่อทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้นและรองรับระบบรางที่มีเพิ่มขึ้นในอนาคตให้การบริการมีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย

ขณะเดียวกัน ในส่วนของโอเปอเรเตอร์ กรมได้เดินทางตรวจสอบระบบการสร้างของโอเปอเรเตอร์ เรื่องการให้บริการรถไฟสามารถนำมาตรฐานตามร่าง พ.ร.บ.ไปคุยได้ก่อน แม้ยังไม่บังคับใช้กฎหมาย ขณะนี้ได้เริ่มทำแล้ว โดยกรมเสนอเข้าที่กระทรวงโทรคมนาคมให้สั่งให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และสั่งไปที่ระบบขนส่งผู้โดยสาร เช่น การเดินรถในแอร์พอร์ตที่เชื่อมอาคารผู้โดยสารสนามบิน ซึ่งการควบคุมและการตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมายสอดคล้องกับที่กรมจัดทำ

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางได้ดำเนินโครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการ และการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-license R) ซึ่งเป็นโครงการที่จะดำเนินการออกใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง ใบอนุญาตพนักงานขับรถไฟและผู้ประจำหน้าที่ ตลอดจนการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง เพื่อให้สอดคล้องตามร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …

Advertisement

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการดำเนินการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล กรมการขนส่งทางรางจึงได้ศึกษารูปแบบการกำกับดูแลระบบรางของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาเป็นองค์ความรู้ และเป็นแนวทางในการนำมาปรับใช้กับระบบขนส่งทางรางของไทย โดยกรณีการศึกษาระบบขนส่งทางรางของไต้หวัน พบว่าไต้หวันได้มีการแบ่งประเภทหน่วยงานกำกับดูแลออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย

1.ระบบขนส่งทางรางระหว่างเมือง ซึ่งมีผู้ให้บริการสองรายประกอบด้วย รถไฟระหว่างเมือง (TRA) และรถไฟความเร็วสูง (THSR) ซึ่งมีการกำกับดูแลโดย Railway Bureau (กรมการขนส่งทางรางของไต้หวัน) โดยในไต้หวัน เจ้าหน้าที่ขับรถไฟจะต้องมีอายุขั้นต่ำ 18 ปี ผ่านการฝึกอบรมอย่างน้อย 2 ปี สำหรับรถไฟระหว่างเมือง และ 8 เดือน สำหรับรถไฟความเร็วสูง จากนั้นจึงเข้ารับการทดสอบข้อเขียนและภาคปฏิบัติจาก Railway Bureau เพื่อขอรับใบอนุญาต

เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ใบอนุญาตจะมีอายุ 6 ปี และต้องสอบใหม่ หากใบอนุญาตหมดอายุมากกว่า 6 เดือน ในส่วนของการบำรุงรักษารถขนส่งทางราง ผู้ให้บริการเมื่อสั่งซื้อรถมาแล้วจะมีการขออนุมัติแผนการบำรุงรักษาจาก Railway Bureau และ Railway Bureau จะมีการสุ่มตรวจสอบการบำรุงรักษารถอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ

2.ในส่วนของระบบรถไฟฟ้าในเมืองมีผู้ให้บริการขนส่งทางราง 5 ราย โดยในเมืองไทเปมีผู้ให้บริการจำนวน 1 ราย คือ Taipei Rapid Transit corporation ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลท้องถิ่น ดูแลเรื่องการให้บริการของรถไฟฟ้าในไทเปซึ่งถูกกำกับดูแลโดย Transport Bureau (กรมการขนส่งของไต้หวัน) โดยก่อนจะประกอบกิจการขนส่งทางรางจะต้องได้รับใบอนุญาตจาก Transport Bureau และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในศูนย์ควบคุมการเดินรถหรือพนักงานขับรถจะต้องได้รับการฝึกอบรม และการทดสอบก่อนการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับรถไฟระหว่างเมือง

นอกจากนี้ ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินรถ เช่น การติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับปริมาณของผู้โดยสารภายในขบวนรถและแสดงข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเพิ่มขบวนรถเสริมในช่วงเวลาเร่งด่วน มีการใช้ระบบ AI เพื่อทำนายสภาพความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์ภายในขบวนรถ อุปกรณ์ภายในสถานี ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการซ่อมบำรุง ซึ่งส่งผลให้รถไฟมีความตรงเวลาสูงถึงร้อยละ 99.99 และมีความพึงพอใจของผู้ใช้บริการมากกว่าร้อยละ 95

ทั้งนี้ โครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการ และการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-license R) จะทำการศึกษาแนวทางการกำกับดูแลของประเทศต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อนำมาประกอบการพัฒนาระบบขนส่งทางรางต่อไปในอนาคต เพื่อให้การบริการเกิดความปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา เทียบเท่ามาตรฐานของสากล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image