ดันไทยฮับพลังงาน – ยานยนต์แห่งเอเชีย

ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี่ เอเชีย และ “ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย 2023” ดันไทยฮับพลังงาน – ยานยนต์แห่งเอเชีย

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีเอ็มจี อีเวนท์ จำกัด เดินหน้าจัดงาน “ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี่ เอเชีย และ “ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย 2023” (Future Energy Asia and Future Mobility Asia 2023) มหกรรมด้านพลังงานและยานยนต์ครั้งสำคัญของภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยและอาเซียนสู่เป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ พร้อมระดมผู้เชี่ยวชาญระดับผู้บริหาร และผู้กำหนดนโยบายร่วมแสดงวิสัยทัศน์ เกี่ยวกับแนวโน้มที่สำคัญ ตลอดจนความท้าทาย และโอกาสในการกำหนดและผลักดันภาคส่วนด้านพลังงานและยานยนต์ให้เกิดขึ้นอย่างครบวงจรและเป็นรูปธรรม

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปีพ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ซึ่งการจัดงานฟิวเจอร์ เอเนอร์ยี่ เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมดังกล่าวได้ ผ่านแพลตฟอร์มความร่วมมือทางธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในอุตสาหกรรมพลังงานและยานยนต์ ผ่านการประสานภาคธุรกิจ นวัตกร และฝ่ายนโยบาย ให้สามารถสร้างก้าวสำคัญในการข้ามความท้าทายด้านพลังงานทั้ง 3 ประการ (Energy Trilemma) ประกอบด้วย 1.การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน 2.การเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม และ 3.ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมาช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก

มร. คริสโตเฟอร์ ฮัดสัน ประธานบริษัท ดีเอ็มจี อีเว้นท์ โกลบอลล์ เอนเนอร์ยี กล่าวว่า เรายังคงผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งภูมิภาคเอเชีย โดยเชื่อว่าหนทางสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้นไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมมาสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น แต่ต้องมีการปรับทั้งโครงสร้างพลังงาน พร้อมกับการพัฒนาประสิทธิภาพและความสามารถในการเข้าถึงพลังงาน และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ควบคู่กัน

Advertisement

ด้าน นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านบริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ได้วางหมุดหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านก๊าซธรรมชาติเหลวของภูมิภาค ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีคาร์บอนต่ำนี้ไม่ได้มีที่มาจากข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีอีกด้วย โดยประเทศไทยสามารถสร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ พร้อมกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน

ขณะที่ นายธนสิทธิ์ วิชัยไพโรจน์วงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบันได้พยายามเร่งดำเนินการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปตท. สผ. เองได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 โดยมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนของการผลิตก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น พร้อม ๆ กับการแสวงหาโอกาสการลงทุนในพลังงานรูปแบบใหม่ รวมถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อดูแลรักษาและส่งมอบสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป

Advertisement

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการด้านยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวเสริมว่า งาน ฟิวเจอร์ เอเนอร์ยี่ เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย จึงเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายสามารถร่วมแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงทำงานร่วมกันเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืน

 

 

อ่านข่าวน่าสนใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image