คิดเห็นแชร์ : เฝ้าระวังปรากฏการณ์เอลนิโญ

คิดเห็นแชร์ : เฝ้าระวังปรากฏการณ์เอลนิโญ

บทความ “คิด เห็น แชร์” นี้ ผมจะขอแชร์มุมมองต่อเรื่องของปรากฏการณ์เอลนิโญที่มีการคาดการณ์กันว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 นี้ หลังจากที่โลกของเรามีสภาพอากาศเป็นปกติ (ไม่เป็นทั้งเอลนิโญ/ลานิญา) ตั้งแต่ปี 2560-2563 และเกิดปรากฏการณ์ลานิญาตั้งแต่ปี 2564-ต้นปี 2566 ซึ่งผมอ้างอิงข้อมูลในอดีตจาก National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA (หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของสหรัฐ) เท่ากับว่าเกษตรกรไทย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแทบที่จะไม่ต้องรับมือกับภัยแล้งที่รุนแรงจากปรากฏการณ์เอลนิโญมาราวๆ 6 ปีแล้ว (ปรากฏการณ์ เอลนิโญครั้งล่าสุดเกิดในปี 2559) ทั้งนี้ปรากฏการณ์เอลนิโญ โดยทั่วไปแล้วจะทำให้ภูมิภาคเอเชียมีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ ขณะที่ปริมาณฝนในทวีปอเมริกาจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

ล่าสุดเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยแพร่บทวิเคราะห์เตือนเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร เนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญในปีนี้ อย่างไรก็ดี ผมทำการตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนหลักๆ ของประเทศไทย จากเว็บไซต์คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ (Thaiwater.net) ในภาพรวม ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าในช่วงปี 2558 ในช่วงเวลาเดียวกัน (ก่อนเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญรอบล่าสุด 1 ปี) ซึ่งเป็นผลที่ต่อเนื่องจากปรากฏการณ์ลานิญาในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ผมประเมินว่าผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนิโญในปีนี้จะยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนนัก เนื่องจากเรายังมีน้ำต้นทุนในเขื่อนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝนน่าจะช่วยเติมปริมาณน้ำในเขื่อนให้เพียงพอต่อการใช้ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม อุปโภค-บริโภคในปีนี้ได้ เพียงแต่ปรากฏการณ์เอลนิโญที่กำลังจะส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศโดยรวม มีโอกาสที่จะทำให้ปริมาณฝนในฤดูฝนปีนี้ลดลงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนสำหรับปี 2567 มีโอกาสที่จะลดต่ำลง และเกิดเป็นความเสี่ยงภัยแล้ง เช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2559 อย่างไรก็ดี แม้ปริมาณน้ำในเขื่อนจะยังเพียงพอต่อการใช้ แต่ถ้าปริมาณน้ำฝนที่อาจจะน้อยกว่าปกติในช่วงฤดูฝนปีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในปีนี้ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา เป็นต้น และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อของประชาชน เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรอาจลดต่ำลงได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลผลิตทางการเกษตรใน 1-2 ปีนี้ มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ (ภัยแล้ง) ซึ่งตามปกติแล้วราคาสินค้าเกษตรจะปรับสูงขึ้นตามกลไกอุปสงค์-อุปทาน แต่สำหรับสถานการณ์ใน 1-2 ปีนี้ อาจมีปัจจัยที่จะกดดันราคาสินค้าเกษตร ก็คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว (Global recession) ซึ่งอาจจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรไม่ปรับตัวขึ้นตามกลไก หรือปรับขึ้นน้อยกว่าสถานการณ์ภัยแล้งที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต และจะเป็นปัจจัยกดดันที่ซ้ำเติมรายได้ภาคเกษตรของเกษตรกรไทยได้เช่นกัน

Advertisement

สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือโครงการอีอีซี ที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมในปริมาณมาก แม้ปริมาณน้ำในเขื่อนภาคตะวันออกปัจจุบันจะยังสูงกว่าปริมาณน้ำในปี 2559 ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่เนื่องจากเขื่อนในภาคตะวันออกส่วนใหญ่เป็นเขื่อนขนาดเล็กปริมาณน้ำกักเก็บจึงมีไม่มากนัก จึงมีความเสี่ยงที่ปริมาณน้ำจะลดลงจนถึงขั้นที่โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกต้องลดอัตราการใช้กำลังการผลิตลง เพราะผลกระทบจากภัยแล้งหากปริมาณน้ำฝนในปีนี้ลดต่ำลง เนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

กลับมาที่ภาพรวมการลงทุนในบทความฉบับก่อนหน้า ผมประเมินมีความเป็นไปได้สูงที่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้ที่จะจบลงแล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุน อย่างไรก็ดี จากข้อมูลล่าสุดมีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมรอบเดือน มิ.ย.นี้ และคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไป เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาทิ ตลาดแรงงานยังขยายตัวดีกว่าคาด ภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงเรื่องการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ กดดันตลาดหุ้นไทยระยะสั้น แต่ผมยังประเมินว่าความผันผวนระยะสั้นที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนี้ จะเป็นโอกาสในการทยอยซื้อสะสมหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี

แต่ต้องระมัดระวังหุ้นในกลุ่มที่อาจมีความเสี่ยงจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น

Advertisement

สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) KGI

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image