ผู้เขียน | เกษมณี นันทรัตนพงศ์ |
---|
ทำความรู้จัก‘สุรียส โควสุรัตน์’
ซีอีโอ UBE ผู้มาก่อนกาล
กับภารกิจแปลงร่างธุรกิจ…สู่ FoodTech
มีโอกาสได้รู้จักซีอีโอ UBE หรือ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) สุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บอกเลยว่า ทั้งทึ่งและประทับใจ ด้วยบุคลิกซีอีโอรุ่นใหม่ กันเอง กระฉับกระเฉง และมีองค์ (ความรู้) รับผิดชอบงานในตำแหน่งบริหารตั้งแต่อายุยังน้อย แล้วยังได้รับเลือกให้เป็น นายกสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง (Tapioca Atanal Association) อีกด้วย
คุณสุรียศ หรือ นุ่น สาวเก่งวัยเลขสาม ทายาทรุ่นสอง บุตรสาว นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นางสายสุณีย์ คูหากาญจน์ ถ่อมตัวเมื่อได้รับคำชม ยกผลสำเร็จให้ทีมงานทั้งหมด “เพราะมีทีมงานที่ดี และเป็นความโชคดีได้เรียนรู้งานไปพร้อมกับพ่อ-แม่ มักจะพาไปด้วยตลอด ทำให้ได้เรียนรู้วิธีทำงาน ได้รู้จักผู้ใหญ่ในวงการค้าขาย ได้เรียนรู้ว่าจะต้อนรับดูแลแขกผู้ใหญ่ยังไง เรียกว่า on the job training ตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่จำความได้”
คุณนุ่นคลุกคลีกับธุรกิจตั้งแต่เกิด ด้วยอากงทำธุรกิจปั๊มน้ำมันที่ จ.อุบลราชธานี แบรนด์ ปั๊ม 3 ทหาร ปัจจุบันคือ ปั๊ม ปตท.นั่นเอง พอมาถึงรุ่นพ่อ-แม่ ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และมาแตกธุรกิจเอทานอล-แป้ง ในยุคที่รัฐบาลส่งเสริมพลังงานทางเลือก “เอทานอล” เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง และเป็นการสนับสนุนพืชผลการเกษตร ยกระดับราคาเพิ่มสูงขึ้น
“คุณพ่อเป็นคนมีไอเดียตลอดเวลา อยากทำโน่นทำนี่ เมื่อรัฐบาลส่งเสริมพลังงานทางเลือก เอทานอลกำลังฮิตในตอนนั้น จึงส่งเสริมเกษตรกรชาวอุบลฯที่ปลูกข้าวเป็นหลักหันมาปลูกมันสำปะหลังแทน ป้อนผลผลิตให้บริษัทที่มีโรงแป้งและโรงงานเอทานอล ทำรูปแบบคอนแทร็กต์ ฟาร์มมิ่ง ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกมันใน จ.อุบลราชธานี ประมาณ 5-6 แสนไร่ที่ทำคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง”
บริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2549 โดยคุณนุ่นมีส่วนร่วมหลักตั้งแต่ก่อตั้ง แต่เพิ่งจะเข้ามาบริหารเต็มตัวในฐานะเอ็มดีบริษัทได้ครบปี เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา บอกถึงแนวทางของบริษัทต่อจากนี้ จะเน้น 2 ธุรกิจหลัก คือเอทานอลและแป้ง มีสัดส่วนรายได้ใกล้เคียงกัน “เอทานอล” ราว 3,500-4,000 ล้านบาท “แป้ง” เกือบๆ 3,000 ล้านบาท รายได้รวมประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี
“หลังนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนมองว่าเราเป็นกลุ่ม energy sector แต่เราอยากจะสวิตช์ตัวเอง เป็นกลุ่ม food ตั้งเป้าว่าอีก 3 ปี จะแปลงร่างเป็น food tech ให้ได้”
ตามแผนคือจะทำมันสำปะหลังให้โตขึ้น ทำแป้งออร์แกนิคที่พรีเมียมมากขึ้น ทำโปรดักต์ใหม่ๆ ที่ออกมาเป็นรีเทล โดยกำลังศึกษาทำเป็นกลุ่มเส้น อย่างเส้นพาสต้าไม่มีแคลอรี ถือเป็นนวัตกรรมของแป้งที่สามารถทำได้หลากหลาย ทั้งอาหาร อุตสาหกรรม และคอสเมติก โดยบริษัทมีทีมวิจัยและพัฒนา และรวมถึงการทำ M&A (ควบรวมบริษัท) ซึ่งเริ่มคุยกับพาร์ตเนอร์จากต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศเอเชีย เพื่อเสริมโนฮาวด้านเทคโนโลยี รวมถึงช่วยขยายตลาด global มากขึ้น
“ตั้งเป้าแปลงร่าง เพราะไม่อยากเป็นแค่โรงแป้งธรรมดา ที่ปัจจุบันแข่งขันสูงและผันผวน มันเหนื่อย จึงอยากแปลงไปสู่สิ่งที่ High Value มากขึ้น” คุณนุ่นกล่าวย้ำทิศทางธุรกิจของบริษัทที่จะก้าวเดินต่อไป โดยปัจจุบัน กำลังการผลิตของโรงแป้งครึ่งหนึ่งได้ทำสิ่งที่บอกแล้ว คือแปลงสู่ไฮแวลู อย่างแบรนด์ “ทาสุโกะ” ถือเป็นเจ้าแรกของไทยที่ทำแป้งคอนเซ็ปต์ ออร์แกนิค ฟลาว เป็นสินค้าแบรนด์พรีเมียมที่ดีต่อสุขภาพ และอีกครึ่งหนึ่งพยายามจะเปลี่ยนแป้งปกติให้เป็นแป้งออร์แกนิคทั้งหมด Modify เป็น Clean Label สำหรับคนรักสุขภาพ ส่วนเอทานอลยังไปได้และจะโตต่อเนื่อง มองไปยังอนาคต อุตสาหกรรมเอสเอเอฟ (Sustainable Aviation Fuel) หรืออุตสาหกรรมการบิน ไบโอพลาสติก เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสะอาดของเครื่องบิน “กำลังผลักดันเรื่องนี้ต่อสมาคมเอทานอลฯ โดยมีหลายภาคส่วนร่วมด้วย รวมถึง ส.อ.ท. เพราะปัจจุบันอย่างยุโรปกำหนดให้สายการบินที่บินเข้ายุโรปต้องใช้น้ำมันสะอาด เทรนด์โลกในหลายประเทศจะบังคับมากขึ้น ขณะที่ไทยยังไม่ได้เริ่มเรื่องนี้ เพราะยังมุ่งนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี เรียกว่าธุรกิจของ UBE จะเป็นธุรกิจเชิงอนาคตทั้งหมด”
ดังนั้น แผนปีนี้ยังโฟกัสเรื่องแป้งฟลาวมันสำปะหลัง “ทาสุโกะ” แบรนด์น้องใหม่ ที่ทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในการปรับปรุงคุณสมบัติให้ดีขึ้น ส่งเข้าร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อทำให้ ทาสุโกะ แป้งฟลาวมันฯออร์แกนิค จับต้องได้มากขึ้นหลังเปิดตัวเมื่อปี 2564 รวมถึงตั้งงบตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ของตลาดเป็นวงกว้างผ่านรายการทำอาหาร เช่น เซเลบริตี้
เชฟ และแคมเปญ 12 เชฟ ทำตามสูตรของเชฟโดยใช้วัตถุดิบ ทาสุโกะ พร้อมทั้งขยายโรงงานฟลาวแป้งมัน กำลังการผลิต 100 ตันต่อวัน ถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่อรองรับตลาดคนรักสุขภาพ เพราะเป็นแป้งที่ไม่มีกลูเตน
แนวคิดล้ำๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพิ่งเริ่ม แต่คุณนุ่นมีแนวคิดและลงมือทำก่อนกาลมาแล้วหลายเรื่อง เช่น การทำ R&D ร่วมกับสถาบันนวัตกรรมของ ปตท. เรื่องเอทานอลมาก่อนหน้าประมาณ 4-5 ปี พอเกิดการระบาดหนักของโควิด ได้นำยีสต์สายพันธุ์ไทยที่พัฒนาร่วมกันมาผลิตแอลกอฮอล์ ซึ่งช่วงนั้นความต้องการสูงเพื่อใช้ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด ช่วยประหยัดต้นทุนผลิต ทำให้จำหน่ายได้ในราคาถูกลงมาก เพราะไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และยังได้คุณภาพที่ดีกว่า
นอกจากนี้ ยังเป็นโรงงานต้นแบบ Zero waste ครบวงจร ที่มีหลายหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ติดต่อขอดูงานอย่างต่อเนื่อง ในการนำขยะมาจัดการให้เกิดประโยชน์ได้ครบลูป “บนพื้นที่ 2,061 ไร่ของโรงงาน เริ่มดำเนินงาน Zero waste ตั้งแต่ปี 2549 แบบต่อจิ๊กซอว์ ทำระบบบำบัดน้ำเสียนำน้ำสะอาดกลับไปใช้บนแปลงปลูกพืชต่างๆ ของชาวบ้าน กากมันจากโรงแป้งจะเข้าโรงบ่อได้ไบโอก๊าซ ได้พลังงานสำหรับบอยเลอร์โรงงาน ลดต้นทุนนำเข้าไม้สักเพื่อมาเผาลง 30% และสามารถขายไฟฟ้าได้ 9 เมกะวัตต์ ส่วนกากเอทานอล หรือกากจากมันเส้น นำไปทำปุ๋ย ทำอาหารสัตว์ มีโซลาร์ โฟลตติ้ง เป็นต้น
“จาก Zero waste เกิดเป็น Circular economy เราทำมานานแล้ว หรือเรื่องดิสรัปชั่น เราทำเรื่อง Cashless มาตั้งแต่ปี 2558 ทั้ง Zero waste และ Cashless ลงมือทำและผลักดันจนสำเร็จก่อนรัฐบาลจะผลักดันอย่างจริงจัง จนทุกวันนี้ ที่นี่ไม่จ่ายเงินสดแล้ว เกษตรกรที่ทำคอนแทร็กต์กับเราจะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีภายใน 30 นาทีที่นำมันสำปะหลังมาขาย หรือช้าสุดภายในวันเดียว”
หรือกรณีประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย คุณนุ่นก็คิดถึงประเด็นนี้แล้วว่าจะเป็นปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในอนาคต หากเกษตรกรรุ่นพ่อแม่เกษียณ รุ่นลูกยังจะเป็นเกษตรกรหรือไม่ จึงเกิดโปรเจ็กต์ปั้นรุ่นลูกขึ้นเป็นพระเอก ทำเป็นแคมป์ ดึงเยาวชนให้กลับมาช่วยพ่อแม่ปลูกมันออร์แกนิค แต่ถึงที่สุดแล้ว คุณนุ่นยอมรับว่าในอนาคต เครื่องจักร หุ่นยนต์ ก็ต้องเข้ามาทดแทนคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!!
ตอบได้ฉะฉานทุกเรื่อง อดสงสัยไม่ได้ว่าวางแผนการเรียนเพื่อการนี้หรือไม่ คำตอบที่ได้ยิน ไม่ใช่อย่างที่คิด คุณนุ่นมีแผนจะใช้ชีวิตอยู่ที่ออสเตรเลียหลังเรียนจบ จึงเลือกเรียนคณะที่สามารถทำงานที่ออสเตรเลียได้ แต่ถูกที่บ้านเรียกตัวให้กลับมาทำงาน จึงตัดสินไปเรียน MBA ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเข้ามาทำงานที่บ้านได้ 2 ปี เพื่อเพิ่มความรู้ด้านการบริหาร ซึ่งเป็นจังหวะที่ตั้งบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) ขึ้นมา
“ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาทำเรื่องมันสำปะหลัง ไม่รู้เรื่องมันมาก่อน ถามว่ามีปัญหาหรือไม่ การทำงานมีปัญหาอยู่แล้ว ก็แก้ปัญหาไป ถ้าเหนื่อยกับงาน เติมพลังให้ตัวเองคือ เที่ยวและกิน ทั้งเที่ยวเมืองนอก ตระเวนหาของกิน เที่ยวแบบเข้าป่า เดินเขา ถือเป็นการปลดปล่อย”
ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่เจ้าตัวไม่ได้เลือกที่จะทำ แต่คุณนุ่นบอกว่า สิ่งที่ทำอยู่กลายเป็นสิ่งที่ชอบ “งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ทำไปทำมาคือสิ่งที่ทำแล้วสนุก เป็นคนชอบทำอะไรใหม่ๆ คงเป็นกรรมพันธุ์ Workaholic อยู่ใน ‘ดีเอ็นเอ’ เห็นพ่อ-แม่ทำงานตั้งแต่เด็ก”
ดังนั้น ภารกิจท้าทาย การแปลงร่าง UBE จากภาคธุรกิจพลังงาน สู่ “ฟู้ดเทค” คงไม่ไกลเกินมือ ซีอีโอ “นุ่น”
เกษมณี นันทรัตนพงศ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เฉลียงไอเดีย : นิธิ สืบพงษ์สังข์ กำเนิด‘อยุธยา โบ๊ท แอนด์ ทราเวล’ เปิดโลก‘คนแก่-ผู้พิการนั่งวีลแชร์’เที่ยวนอกบ้าน
- เฉลียงไอเดีย : พสิษฐ์ นาคะบุตร ขึ้นรูปใหม่‘โพธิ์ทองอรัญญิก’ แฮนด์เมดในตำนานสู่‘นิวดีไซน์’
- ‘จูดี้ หลิน’ อีเกิ้ล ทัวร์… เชื่อมเที่ยวไทย-ไต้หวัน เสนอรัฐฟรีวีซ่าถาวร ปราบมิจฉาชีพทัวร์ถูก
- เฉลียงไอเดีย : ร่วมทริปโออาร์ ดื่มด่ำ คาเฟ่อเมซอน 2 เมืองวัฒนธรรม ‘เวียงจันทน์-หลวงพระบาง’