กสิกรไทยชี้ ปีนี้จีดีพีโต 3.7% ท่องเที่ยวตัวขับเคลื่อนหลัก จัดตั้ง รบ.ช้า จะเกิดความกังวลลงทุนภาครัฐ

กสิกรไทยชี้ ปีนี้จีดีพีโต 3.7% ท่องเที่ยวตัวขับเคลื่อนหลัก จัดตั้ง รบ.ช้า จะเกิดความกังวลลงทุนภาครัฐ

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนาปรับกลยุทธ์รับมุมมองตลาดการเงินที่ผันผวนว่า สำหรับภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2566 อยู่ที่ 3.7% ตัวขับเคลื่อนหลัก คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยที่ 28.5 ล้านคน ซึ่งอาจจะเห็นนักท่องเที่ยวแตะระดับ 30 ล้านคน อาจต้องลุ้นในไตรมาส 4/2566 นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นอุปสรรคทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดระหว่างประเทศสหรัฐ-จีน และเกี่ยวข้องถึงไต้หวัน ส่งผลให้การค้าทั่วโลกชะลอตัวลง

ดังนั้น ปีนี้ภาคการส่งออกจะติดลบที่ 1.2% และนำเข้าติดลบ 2.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดยังเป็นบวกที่ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ในช่วงไตรมาส 2/2566 ซึ่งจะมีโอกาสสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าได้ โดยประเมินกรอบค่าเงินบาทช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าไว้ที่ 33.90-35.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกัน ความกังวลเรื่องการเมืองในประเทศยังไม่มีความชัดเจน อาจทำให้การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ไม่มากนัก โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนที่เป็นการลงทุนเพียงแค่การชดเชยค่าเสื่อม ทำให้กำลังการผลิตทรงตัวอยู่กับที่ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัด

Advertisement

“เศรษฐกิจของไทยยังฟื้นตัวได้ไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิดในปี 2562 คาดว่าต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ตอนนี้เรายังโตต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ 5% และเชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องเมื่อเทียบรายไตรมาส” นายกอบสิทธิ์กล่าว

เชื่อปัจจัยการเมืองแค่ ‘คลื่นรบกวน’ ไม่กระทบเศรษฐกิจ

นายกอบสิทธิ์กล่าวว่า เศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลใหม่ยังคงประเมินการขยายตัวที่ 3.7% ซึ่งตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก และพึ่งพาการใช้จ่ายของภาครัฐน้อยลง ดังนั้น ความกังวลทางด้านการเมืองจะคล้ายกับคลื่นรบกวน ซึ่งไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินเศรษฐกิจ ยกเว้นแต่จะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในเรื่องของการเกิดเหตุการชุมนุม (ม็อบ) กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และกระทบความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาประเทศไทย แต่มองว่ามีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม มองว่าสิ่งที่ควรกังวลมากกว่า คือตัวแปรใหม่ๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ หากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และมีการผลักดันการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง เช่น ถ้าทางประเทศตะวันตกมองว่าไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่งผลให้การเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหภาพยุโรป (อียู) เพราะเกิดการเลือกตั้งใหม่ จึงเป็นมุมมองในเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และเป็นอานิสงส์ต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2567

สำหรับตัวถ่วงของเศรษฐกิจระยะยาว การลงทุนภาคเอกชนมันเป็นสัดส่วนน้อยเกินไป หากการเจรจาเรื่องเอฟทีเอได้ และดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ และมีนักลงทุนไทยร่วมด้วย เช่น ในอดีตมีการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์จะส่งเสริมให้กำลังการผลิตสูงขึ้น

อีกทั้งยังช่วยกระจายความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย เพราะการฟื้นตัวกระจุกตัวในภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้น ต้องสร้างความน่าสนใจดึงให้นักลงทุนเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นจากการเจรจาเอฟทีเอ เพื่อขายสินค้าไทยสู่ประเทศที่สาม และได้สิทธิทางด้านภาษี ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของเวียดนาม

“หากเศรษฐกิจไทยเกิดการปลดล็อกหลายอย่างเกี่ยวกับการค้า อาจทำให้เรื่องการส่งออกปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ต้องรอดูผลลัพธ์หากตั้งรัฐบาลได้ โดยเฉพาะประเทศตะวันตกเห็นชอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” นายกอบสิทธิ์กล่าว

หวั่นตั้งรบ.เกินไทม์ไลน์กระทบใช้จ่ายภาครัฐ

นายกอบสิทธิ์กล่าวว่า กรณีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าเกินกว่ากำหนดการจะเกิดเป็นความกังวลเรื่องการลงทุนภาครัฐ หากย้อนไปเมื่อปี 2557 เกิดเหตุรัฐประหาร หลังจากนั้นมีการตั้งรัฐบาลใหม่จะเห็นว่าเรื่องการลงทุนภาครัฐเคยทำได้ประมาณปีละ 288,000 ล้านบาท เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลอาจมีการรื้อโครงการเก่า และทำให้เรื่องการลงทุนสะดุดลงเหลือประมาณ 209,000 ล้านบาทต่อปี จากนั้นรัฐบาลปรับตัวดีขึ้น

เมื่อเข้าสู่วิกฤตโควิดทำให้ภาคการลงทุนที่เคยทำได้ประมาณปีละ 387,000 ล้านบาทต่อปี ก็ลดลง 293,000 ล้านบาท โดยสถานการณ์ล่าสุด การลงทุนภาครัฐอยู่ที่ 460,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาจะบวกที่ 2% ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการภาครัฐที่ 2.3% และสัดส่วนการเบิกจ่ายจะเฉลี่ยอยู่ที่ 74% ของงบประมาณที่ตั้งไว้

“งบปี 2567 คาดว่าจะปรับเปลี่ยนได้ยาก เพราะการจัดตั้งรัฐใหม่ใช้ระยะเวลา ซึ่งขณะนี้อาจจะผลักดันเรื่องโครงการเดิม ยกเว้นแต่มีการรื้อโครงการเก่าที่มีการดำเนินการแล้วที่มีการใช้สัญญา เมื่อรัฐใหม่เข้ามาและไม่สานต่ออาจเสียค่าโง่ที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าคุ้มค่าหรือไม่” นายกอบสิทธิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image