นักธุรกิจนิวเจน ถก 8 ข้อ ‘พิธา’ มอง ‘3F’ ปฏิรูปอุตฯ

นักธุรกิจนิวเจน ถก 8 ข้อ ‘พิธา’ มอง ‘3F’ ปฏิรูปอุตฯ

เป็นที่่น่าจับตาอีกครั้ง เมื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคและทีมเศรษฐกิจ เข้าพบตัวแทนสภาอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ (Young FTI) หลักสูตรการเรียนของบรรดาทายาทนักธุรกิจ หรือนักธุรกิจไฟแรงที่เริ่มต้นนับหนึ่ง ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะทางนโยบายจากนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของภาคอุตสาหกรรมไทย

หลักสูตรนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ มี กรกฤช จุฬางกูร รองประธาน ส.อ.ท. และประธานบริหารบริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด เป็นผู้อำนวยการหลักสูตรที่ปั้นนักอุตสาหกรรมมาแล้ว 8 รุ่น

ด้วยคอนเน็กชั่นแน่นปึ้ก ระหว่าง พิธา กับ ส.อ.ท. จากการที่เจ้าตัวเป็นสมาชิกอยู่ก่อนแล้ว จึงได้เห็นภาพการหารือกับรุ่นใหญ่เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่หลักสูตร Young FTI เจ้าตัวเคยเป็นวิทยากร จึงไม่แปลกที่จะเห็นภาพการพบปะรัวๆ 2 ทริปใน 1 สัปดาห์

Advertisement

ความน่าสนใจของวงหารือระหว่าง พิธา กับ Young FTI คือ การประกาศนโยบายในการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยผ่าน 3F ประกอบด้วย หนึ่ง Fair Game ความเท่าเทียมที่จะแข่งกันระหว่างทุนใหญ่กับทุนเล็ก ทุนไทยกับทุนต่างชาติ สอง Firm ground หมายถึงต้องสู้กันด้วยผลิตภาพ ไม่ใช่สู้กันด้วยการกดค่าแรง และสาม Fast growth industries ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ และหาช่องว่างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยไปพร้อมกับโลก

กรกฤช จุฬางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานโครงการนักอุตสาห กรรมรุ่นใหม่ (Young FTI) กล่าวกับ มติชน ถึงนโยบาย 3F ว่า นายพิธา พร้อมด้วยสมาชิกพรรค ได้มาพบปะกลุ่มนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่จาก Young FTI กว่า 300 คน เราได้คัดเลือกตัวแทนจาก Young FTI มาทั้งหมด 8 คน เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาหลัก ที่อยากให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน และมุมมองด้านเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายในแต่ละอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตร ชิ้นส่วนและยานยนต์ แกรนิตและหินอ่อน สิ่งทอ นวัตกรรม รวมทั้งศักยภาพข้าราชการไทย

การนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขจากตัวแทน Young FTI จำนวน 8 คน ในเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1.เรื่องเกาไม่ถูกจุด เกษตรกรรมไทยไม่ยั่งยืน 2.เรื่องยานยนต์ 0 เหรียญ สหภาพไร้กฎเกณฑ์ ทางตันของ SMEs ไทย 3.เรื่องไทยจะครองไทย 4.เรื่องของปลอมระบาด ผู้ถือลิขสิทธิ์ตาย ประเทศขาดรายได้ 5.เรื่องศักยภาพข้าราชการไทยกับการจัดการมาตรฐานระหว่างประเทศ 6.เรื่องทอนไม่ถึง พึ่งไม่ได้ 7.เรื่องนวัตกรรมดีแต่พี่ไม่เหลียวแล 8.เรื่องชิ้นส่วนเครื่องบินก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม

Advertisement

แต่ละเรื่องที่ได้สะท้อนออกไป พบว่าสอดคล้องกับนโยบายในการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยผ่าน 3F ได้แก่ Fair Game, Firm ground และ Fast growth industries ของพรรคก้าวไกล

โดยเฉพาะในเรื่องของ Fair Game ได้เล่าถึงปัญหาเรื่องใบอนุญาต โดยเปรียบเทียบบริษัทเล็ก และบริษัทใหญ่ ที่ใช้ระยะเวลาในการจดสิทธิบัตรนานมาก ซึ่งเรื่องนี้ นายพิธาให้คำตอบว่า ภาครัฐสามารถทำให้เกิดความเท่าเทียมให้กับทั้งบริษัทเล็กและบริษัทใหญ่ได้

นอกจากนี้ ทางนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ ยังได้สะท้อนถึงเรื่องการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี ที่ไม่ว่าจะมีงานประมูลใด บริษัทใหญ่ก็จะได้ไปทุกครั้ง ทั้งที่บริษัทเล็กก็มีศักยภาพไม่ต่างกัน ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐส่งเสริมด้านเอสเอ็มอี ให้มีการประมูลที่เป็นธรรม

ส่วนเรื่องของ Firm ground เราได้สะท้อนถึงเรื่องค่าแรงงานขั้นต่ำ ที่ทางพรรคมีนโยบายปรับขึ้นมาถึง 450 บาทต่อวัน ซึ่งทางภาคเอกชนเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการปรับขึ้น แต่เราได้สะท้อนไปว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมีผลกระทบกับหลากหลายธุรกิจ ต้องเข้าใจก่อนว่าอุตสาหกรรมบางประเภทไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ในทันที เพราะจะส่งผลกระทบไปถึงราคาสินค้าที่ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การปรับขึ้นค่าแรงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30-50% ของชิ้นงาน ทั้งนี้ ทางนายพิธาได้ให้คำตอบว่าจะมีการชดเชยในส่วนอื่นๆ แทน อาทิ การลดหย่อนภาษีให้กับเอสเอ็มอี เป็นต้น ซึ่งต้องมาดูว่าการช่วยเหลือของภาครัฐจะสามารถชดเชยภาระต้นทุนแรงงานที่จะเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ต่อไป

ขณะเดียวกัน เรื่องของ Fast growth industries เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง เพราะหลายอุตสาหกรรมที่อยู่ในไทย อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องซัพพลายเชนข้าว ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากนโยบายรัฐที่ผ่านมา คือนโยบายประกันราคาข้าว นายพิธาได้แนะนำว่าให้มองหาธุรกิจใหม่ๆ ที่เติบโตใกล้เคียงกัน ซึ่งมองว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่าย เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีความเฉพาะทาง การเปลี่ยนแปลงไปยังธุรกิจใหม่ๆ เป็นอีกวิถีทางหนึ่ง แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้

นอกจากนี้ เราได้มีการเสนอต่อนายพิธา ถึงเรื่องการผลักดันอุตสาหกรรมในประเทศ โดยได้ยกตัวอย่างกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีผู้ประกอบการไทยหลายรายสามารถผลิตรถเมล์ในประเทศได้ แต่ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการซื้อรถเมล์จากต่างประเทศ หรือซื้อชิ้นส่วนเพื่อมาประกอบในไทยเป็นส่วนใหญ่ อยากให้รัฐบาลยุคใหม่ผลักดันและให้ความสำคัญกับโปรดักต์ของคนไทยให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้กับคนไทยต่อไป

อีกทั้งมีการเสนอเรื่องการจัดการลิขสิทธิ์ของสินค้า เนื่องจากมีผู้ประกอบการในไทยนำเข้าสินค้าที่ถูกลิขสิทธิ์เข้ามาขายในประเทศ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วยังพบว่าในตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ยังมีการขายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่เป็นจำนวนมาก

ที่ผ่านมา กลุ่ม Young FTI มีการร้องเรียนไปยังตำรวจ แต่เรื่องนี้ยังไม่หมดไปจากประเทศไทย ส่งผลให้ผู้ที่นำของแท้ถูกลิขสิทธิ์มาขายไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เพราะผู้ที่ละเมิดนำสินค้ามาขายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนจริง

ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐชุดใหม่มีความเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบลิขสิทธิ์ของสินค้านำเข้าอย่างจริงจังเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ด้วย

ปฏิรูปอุตสาหกรรมว่าด้วย 3F จะได้ “เดินหน้า” หรือแค่ “จุดพลุ” เพราะการเมืองยังมีพลิกผันอีกหรือไม่ต้องติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image