ผวาภัยแล้งป่วนจีดีพีปี’66-67 จี้ตั้งรัฐบาล เดินหน้า 3 แผนรับมือ

ผวาภัยแล้งป่วนจีดีพีปี’66-67 จี้ตั้งรัฐบาล เดินหน้า 3 แผนรับมือ ตะวันออกฝนลดฮวบอุตฯ-เที่ยวเสี่ยง

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ไทยได้เข้าสู่สภาพอากาศแบบเอลนีโญทำให้อากาศร้อนและแห้งแล้ง อาจกระทบต่อน้ำต้นทุนในพื้นที่ตะวันออกลดต่ำลงโดยเฉพาะในปี 2567 จึงคาดหวังว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งบริหารจัดการเพื่อให้น้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกแหล่งอุตสาหกรรม และท่องเที่ยวหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ปัจจุบันมีน้ำฝนเข้ามาเพิ่มเติมแต่ปริมาณลดลง เฉลี่ยปีนี้ค่าต่ำกว่าปกติ 40% พื้นที่ภาคตะวันออกต่ำกว่าปกติ 60% แต่น้ำต้นทุนยังเพียงพอในการใช้ระหว่างที่ฝนทิ้งช่วงมิถุนายน และฝนจะมาอีกครั้งในช่วงสิงหาคม แต่สิ่งที่กังวลคือปี 2567 น้ำต้นทุนในภาคตะวันออกอาจจะลดหนักหากไม่เร่งบริหารจัดการน้ำอาจเกิดปัญหาได้ ขณะนี้กำลังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่อยากให้ทุกอย่างเดินหน้าโดยเร็ว

-ระยะเร่งด่วนจำเป็นจะต้องเตรียมระบบสูบและผันน้ำในแหล่งน้ำต่างๆมาสะสมไว้เป็นน้ำต้นทุนให้มากขึ้น อาทิ อ่างประแสร์ ผันน้ำจากอ่างบางพระ แม่น้ำบางปะกง และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต

Advertisement

-ระยะกลางควรเร่งรัดโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ทบทวนโครงการภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว 20 ปี เร่งรัดการรับมือภัยแล้งต่างๆให้เร็วขึ้นในช่วง 1-3 ปีนี้

-ระยะยาวจำเป็นต้องมองการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว สังคมเมือง ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) แหล่งน้ำต้องเพียงพอ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กกร.) ได้ทำหนังสือไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้ว

แหล่งข่าวจากส.อ.ท. กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งที่ไทยประสบในช่วงที่ผ่านมาฉุดรั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี อาทิ ปี 2563 จีดีพีไทยคาดการณ์โต 3.4% ลดลงเหลือ 1.5-2.5% หนึ่งในสาเหตุหลัก คือ ภัยแล้งทำให้จีดีพีภาคอุตสาหกรรมติดลบ 5.94%

Advertisement

ต่อมาปี 2554 วิกฤตภัยแล้งรุนแรง จีดีพีภาคอุตสาหกรรมติดลบ 4.12% ส่วนภัยแล้งปี 2566 ยังไม่รุนแรงแต่น่าจะกระทบกับภาคเกษตรในหลายพื้นที่ ซ้ำเติมความเป็นอยู่ของประชาชน อาจทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารเพิ่มขึ้น กังวลว่ายิ่งจัดตั้งรัฐบาลช้าจะยิ่งทำให้การขับเคลื่อนแผนงานดูแลปัญหาต่างๆ ยิ่งชะลอออกไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image