ผู้ค้าแอลกอฮอล์ แจงยิบ ‘ไม่เอา’ ร่าง พ.ร.บ.สุรา ฉบับรัฐ ซ้ำขวางทางสุราก้าวหน้า

ผู้ค้าแอลกอฮอล์ แจงยิบ ‘ไม่เอา’ ร่าง พ.ร.บ.สุรา ฉบับรัฐ ขวางทางสุราก้าวหน้า ลุยบี้เลิกห้ามขาย 14.00-17.00 น. แนะยึดฉบับประชาชน

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน นายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวถึงกรณีสำนักคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค เปิดรับฟังร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมาตรการทางกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันว่า เป็นคนหนึ่งถูกเชิญให้ไปรับฟังและออกความเห็นในฐานะตัวแทนสมาคม และอยู่ในแวดวงธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แสดงความเห็นว่า เห็นด้วยที่จะมีการยกร่าง พ.ร.บ. แต่ไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามีการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ. 37 มาตรการ แต่ทำการสอบถาม 9 ข้อ กับ 4 มาตรการ ที่เหลือ 33 มาตรการไม่มีการสอบถาม ซึ่งผู้รับฟังมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบที่ไม่เปิดรับฟังความเห็นให้ครบถ้วน

ทั้งนี้ ประเด็นที่เปิดรับฟังเพื่อนำไปสู่การแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งประเด็นหลักๆ ที่ผู้ประกอบการ ไม่เห็นด้วย ประกอบด้วย 1.การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาห้ามจำหน่าย (ปัจจุบันกำหนดห้ามจำหน่ายช่วงเวลา 14.00-17.00 น.)

2.เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสถานประกอบการที่สงสัยว่าจะมีการกระทำผิดปล่อยให้มีการดื่มในช่วงเวลาห้ามขาย (ปัจจุบันต้องมีการขอหมายและขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้าตรวจสถานประกอบการ)

Advertisement

3.เพิ่มโทษปรับเงินผู้ฝ่าฝืนทั่วไป สูงสุด 3 หมื่นบาท (ปัจจุบันไม่มีบทลงโทษนี้)

และ 4.เพิ่มค่าปรับสำหรับบริษัทนำเข้า หรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.บ.สูงสุดหลักล้านบาท รวมถึงห้ามโฆษณายี่ห้อ ห้ามทำสินค้าอื่นที่ใช้เครื่องหมายการค้าเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ยี่ห้อนั้นทำมาก่อนที่มีกฎหมายห้ามไว้

นายธนากรกล่าวว่า ประเด็นที่กรมควบคุมโรคจะยกร่าง พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งนี้สวนทางกับข้อเสนอก่อนหน้านี้ที่กลุ่มภาคเอกชนด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เคยนำเสนอไว้ เป็นร่าง พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภาคประชาชนทำไว้ก่อนการจัดเลือกตั้ง และรอการเข้าสภาพิจารณา ซึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการนำเสนอคือยกเลิกการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ขยายเวลาเปิดให้บริการของสถานประกอบการบันเทิง พร้อมจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปถึง 02.00-04.00 น. ขึ้นกับพื้นที่นั้นมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อและนิยมการกินดื่มในเวลาค่ำคืนเหมือนในต่างประเทศ นำร่องในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่มีต่างชาติเที่ยวเยอะ อาทิ ภูเก็ต สมุย เป็นต้น รวมถึงยกเลิกกฎกติกา หรือการควบคุมที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าปกติ เช่น การนำเสนอเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ณ จุดขายอย่างในผับบาร์ เป็นต้น

Advertisement

การยกร่าง พ.ร.บ.นี้ในแง่ของผู้ประกอบการ เราเห็นว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และเป็นการลดโอกาสแนวคิดส่งเสริมเหล้าท้องถิ่น สุราพื้นบ้าน สุราก้าวหน้า แค่เรื่องห้ามนำเสนอตราและโฆษณาใดๆ คนจะรับรู้อย่างไร ตอนนี้สุราพื้นบ้านขายได้ขายดีหลังจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ หยิบยกขึ้นมาพูดถึง ทำให้คนรู้จัก วันนี้โชคดีขายได้แยะ เพราะคนในกระแสพูดถึง ทำให้รู้จักมากขึ้น ต่อไปหากออกกฎหมายใหม่ หากมีการพูดถึงเครื่องหมายการค้าก็อาจถูกปรับ 5 แสนถึง 1 ล้านบาท” นายธนากรกล่าว

นายธนากรกล่าวด้วยว่า แนวคิดสุราก้าวหน้าส่งเสริมสุราพื้นบ้านไม่ได้เป็นการกระตุ้นเพิ่มคนกินสุรา แต่เป็นการเพิ่มจำนวนผู้ค้าให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น โดยมองข้อดีว่านอกจากจะเป็นการเพิ่มผู้ผลิตรายย่อย สร้างอาชีพ สร้างรายได้ผู้ประกอบการแล้ว ยังเพิ่มรายได้เกษตรกรผู้ผลิตพืชเพื่อนำมาผลิตสุรา เชื่อว่าผู้บริโภคในประเทศไม่ได้เพิ่มมากจนน่ากังวล หากมีการรณรงค์และควบคุมในเรื่องความปลอดภัยของผู้ดื่ม แต่เห็นว่าจะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและส่งออกในอนาคตเมื่อสุราพื้นบ้านไทยเป็นที่รู้จักของต่างชาติ เหมือนกับ สาเก (เหล้าญี่ปุ่น) หรือ โซจู (สุราหมักเกาหลี) ที่มีการนำเข้ามาขายในไทยมากขึ้น

“อยากเสนอให้รัฐคำนึงว่าจะออกมาตรการอะไรควรสอดคล้องกับสถานการณ์ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าปกติ ตอนนี้มีกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวและการบริการหลายสิบองค์กรมีการรวมตัวครั้งใหญ่ เพื่อหารือและจัดเตรียมทำหนังสือรวมปัญหา สถานการณ์ และข้อเสนอต่างๆ รอเสนอให้กับรัฐบาลใหม่ทันทีที่ได้จัดตั้งเสร็จ

“ผู้ประกอบการคาดหวังจะได้เห็นรัฐบาลใหม่ไม่เกินสิงหาคมนี้ เพราะหลายปัญหาต้องเร่งแก้ไขก่อนที่จะเข้าช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายปีนี้” นายธนากรกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image