กกร. คง กรอบจีดีพีปีนี้ ที่ 3-3.5% หวังตั้งรบ.ได้ตามไทม์ไลน์ส.ค. ชี้หากล่าช้า-ชุมนุม ฉุดจีดีพีเหลือ 2-2.5%

กกร. คง กรอบจีดีพีปีนี้ ที่ 3-3.5% หวังตั้งรบ.ได้ตามไทม์ไลน์ส.ค. ชี้หากล่าช้า-ชุมนุม ฉุดจีดีพีเหลือ 2-2.5%

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกร.ยังคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2566 อยู่ที่ 3.0 – 3.5% รวมทั้งการส่งออกปี 2566 คาดว่ายังอยู่ที่ -1.0 – 0.0% และ กรอบอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 2.7 – 3.2% เท่าเดิม กับที่เคยประมาณกรไว้เมื่อ การประชุมกกร.ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

นายผยง กล่าวว่า โดยภาพรวม เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 เดือนแรก (เดือนมกราคม-เมษายน 2566) เข้ามาสูงกว่า 8 ล้านคน และคาดว่าทั้งปีมีศักยภาพที่จะมากถึง 30 ล้านคน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการจ้างงาน

นายผยง กล่าวว่า นอกจากนี้ รายได้ในภาคเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมยังขยายตัว ทำให้ในภาพรวมผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นและมีการใช้จ่ายบริโภคเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโลก ทั้งเศรษฐกิจจีนไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังการเปิดประเทศอย่างที่คาดการณ์ไว้ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปเผชิญแรงกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงการ ทำให้คาดว่าการส่งออกไทยในปี 2566 จะหดตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

Advertisement

นายผยง กล่าวว่า ทั้งนี้ การส่งออกที่ผ่านมา มีการหดตัวติดลบติดต่อกัน 7 เดือน ทำให้คำสั่งซื้อลดลง แต่ภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องมีการรักษาการผลิต เพื่อพยุงการจ้างแรงงานให้ไม่ได้รับผลกระทบ หากการส่งออกยังไม่มีการฟื้นตัว อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยมี 19 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

นายผยง กล่าวว่า สำหรับเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยท้าทาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปรับขึ้นอีก 0.25% เป็น 2% และมีแนวโน้มว่าจะยังปรับขึ้นต่อไปด้วยเหตุว่าเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังอาจได้รับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มเติมจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรและราคาสินค้าในระยะข้างหน้า รวมถึงหากมีการปรับขึ้นค่าแรงในอนาคต โดยหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 0.82% ถ้าไม่มีการเพิ่มทักษะแรงงานและผลิตภาพแรงงานให้เหมาะสมไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยน

“ในส่วนสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ประชุม กกร. มองว่าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบในระดับสูงในภาวะที่ทั่วโลกเผชิญกับปัญหา เอลนีโญในปีนี้ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ 3.6 หมื่นล้านบาท โดย กกร. ได้มีการทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เสนอให้เร่งจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้ง ทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว นอกจากนี้ ที่ประชุม มองว่าปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศ ภาครัฐควรบูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว” นายผยง กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านราคาน้ำมันดีเซลที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท สิ้นสุดลงในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ซึ่ง อาจซ้ำเติมต้นทุนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ดังนั้นมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จะต้องรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง เพื่อช่วยพยุงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

นายผยง กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. ยังคงมองว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้ การดูแลนักท่องเที่ยวให้มีความสะดวก ปลอดภัย จะเป็นแรงจูงใจดึงดูดให้ต่างชาติเลือกเดินทางเข้ามาในประเทศมากขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ปัญหาคอขวดเรื่องการเพิ่มจำนวนเครื่องบินให้กับสายการบินของไทย ยังเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว ซึ่งหากสามารถแก้ไขปัญหาสายการบินให้เพียงพอ นอกจากนี้ยังต้องแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำตามพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยเฉพาะตามเกาะต่างๆ

นายผยง กล่าวว่า ประเทศไทยมีโอกาสในการดึงดูดนักธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนและทำงานเป็น Hub มากขึ้น จากอานิสงส์ของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก ดังนั้น ภาครัฐควรมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน โดยเฉพาะการปฏิรูปกฏหมาย กฏระเบียบเพื่อยกระดับความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ เช่น การปรับปรุงปฏิรูปการขอวีซ่าให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในส่วนของการจัดตั้งรัฐบาล ภาคเอกชน ต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ภายในเดือนสิงหาคมนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนและการบริโภค แต่หากกรณีตั้งรัฐบาลได้ล่าช้าไปอีก 2-3 เดือน และเกิดสถานการณ์รุนแรงเช่น มีการชุมนุมประท้วง คาดว่าจะกระทบต่อจีดีพีปี 2566 ที่อาจจะเหลือเพียง 2-2.5% ได้รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่ลดลง อย่างไรก็ตามระหว่างนี้รัฐบาลรักษาการอยากเห็นการออกมาตรการดูที่จะลดค่าครองชีพของประชาชนและดูแลต้นทุนผู้ประกอบการเพื่อให้ประคองตัวเองได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image