คนอุ่นใจเศรษฐกิจฟื้น ดัชนีความเชื่อมั่น พ.ค.66 สูงสุดรอบ 39 เดือน แต่ยังหวั่นการเมืองไม่นิ่ง

ดัชนีความเชื่อมั่น พ.ค.66 เพิ่มสูงสุดในรอบ 39 เดือน ประชาชนอุ่นใจเศรษฐกิจฟื้น แต่ยังหวั่นการเมืองไม่นิ่ง เศรษฐกิจโลกชะลอ

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 55.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 55 เมื่อเดือนก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.2 52.8 และ 64.2 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนเมษายนที่อยู่ในระดับ 49.4 52.0 และ 63.6 ตามลำดับ

Advertisement

นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ

ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้ารวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่อาจเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

Advertisement

ด้าน นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 53.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 51.9 โดยเป็นระดับที่เกิน 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 นับจากมีนาคม 2566 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการ มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มกลับสู่สภาวะปกติแล้ว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด

นายวชิรระบุว่า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2566 แยกตามภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 52.7 ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 53.8 ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 56.1 โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นภูมิภาคแรกที่มีดัชนีความเชื่อมั่นต่อเนื่องกันสูงเกินระดับ 50 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 53.0 ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 53.7 และภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 52.5

นายวชิรกล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐและการดำเนินการแก้ไข ดังนี้ 1.ความกังวลของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะกระทบกับต้นทุนของธุรกิจเป็นส่วนมาก จึงอยากให้มีการพิจารณาหาวิธีที่เหมาะสมร่วมกัน 2.การปรับลดต้นทุนสทางด้านธุรกิจต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน 3.ความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และความพร้อมในการขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐ

นายวชิรกล่าวว่า 4.กระจายความเจริญของเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ให้มีความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับเมืองใหญ่ 5.ควบคุมป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นของหน่วยงานภาครัฐ และ 6.ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมาสูงขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image