มติชน คว้า ‘ดร.ไอซ์’ คายกลยุทธ์ยิงคอนเทนต์-เทรนด์เสพสื่อ จ่อรุกหนักโซเชียล หลัง TikTok เขย่าโลก

มติชน จ่ออัพเวอร์ชั่น คว้า ‘ดร.ไอซ์’ เผยไต๋โซเชียล คายกลยุทธ์ยิงคอนเทนต์-เทรนด์เสพสื่อ หลัง TikTok เขย่าโลก

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 มิถุนายน ที่ชั้น 9 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มีการจัดกิจกรรมบรรยายในหัวข้อ “Digital Touchpoint” โดย ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ หรือ ดร.ไอซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจ การบริหารจัดการภาครัฐ การตลาดดิจิทัล การสื่อสารประชาสัมพันธ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ Digital Transformation และ Disruptive Technology

นายวรศักดิ์ ประยูรศุข รักษาการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท งานดี จำกัด ในเครือมติชน กล่าวเปิดการอบรมว่า ทางมติชนยินดีอย่างมากที่ท่านให้เกียรติมาบรรยายในวันนี้ เท่าที่ติดตามมา ดร.ธีรศานต์ ท่านก็เป็นแฟนคลับในระดับพันธุ์แท้ของมติชน อ่านมติชน ประชาชาติมาตั้งแต่ต้น ในช่วงที่เราจัดงานเสวนาก็ให้ความร่วมมือมาโดยตลอด ทราบว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องดิจิทัลที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ มีเรื่องราวเกี่ยวกับ ติ๊กต๊อก (TikTok) มาเล่าให้ฟังเยอะ

Advertisement

“ในภาพรวมของการอบรมในวันนี้ มีผู้ที่มาเข้าร่วมประมาณ 60 คน มีทั้งบรรณาธิการ หัวหน้าข่าวออนไลน์ แอดมิน ผู้ปฏิบัติงานในเว็บไซต์ เพจ และโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ของบริษัท ซึ่งการที่เชิญผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย ก็เพื่อที่จะยกระดับแนวคิดจากที่ทำงานได้ดีในระดับหนึ่ง แต่การทำงานก็ต้องมีการพัฒนา ยกระดับไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังมี TikTok ที่เปิดตัวในปี 2016 เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีบทบาทอย่างมากในบ้านเราช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา ขณะที่ในต่างประเทศก็เป็นแอพพลิเคชั่นที่เขย่าโลก เพราะทำให้ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ของยุโรป มีท่าทีอะไรบางอย่าง

ขอให้การอบรมในวันนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ คือการสร้างความรับรู้ สร้างความรู้ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ต้องขอบพระคุณ ดร.ธีรศานต์ ที่ให้เกียรติมาบรรยายในวันนี้ ก็ขอให้การบรรยายในวันนี้เป็นไปด้วยความสนุกสนาน ให้มีบรรยากาศของการทำงานแบบมติชน เราทำงานจริงจัง แต่เราก็มีอารมณ์ขันและสนุกไปกับมัน” นายวรศักดิ์กล่าว

Advertisement

ด้าน ดร.ธีรศานต์กล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่ว่าบริบทจะเปลี่ยนไปขนาดไหน มันสำคัญตรงที่จุดแข็ง (Hard Point) ที่เราสัมผัสจากลูกค้า จากผู้อ่าน ไม่ต้องไปดูไหนไกล ทุกวันนี้บริบทสังคมเปลี่ยน ส่งผลให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป และคนส่งผลต่อเทสในเทคโนโลยี (taste) สุดท้ายส่งผลให้กระแสเงินเปลี่ยนทิศทางไปอย่างรวดเร็ว จากที่ตนลองเก็บตัวเลขเมื่อปี 2018 เราอยู่ในเฟซบุ๊กเวอร์ชั่น 163 ซึ่งตอนนั้นเฟซบุ๊กเปิดมาแล้ว 14 ปี ต่อมาเดือนกันยายน ปี 2018 อยู่ที่ 179 ผ่านมาถึงกุมภาพันธ์ 2022 เราอยู่ที่เวอร์ชั่น 356 ส่วนต้นปีนี้เราอยู่ที่เวอร์ชั่น 393 จะเห็นตัวเลขที่อัพเดตอย่างรวดเร็ว ขณะที่พวกเรายังตื่นนอนเวลาเดิม ยังคิดเหมือนเดิม แต่บริบททางด้านเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนภาพไปอย่างชัดเจนแล้ว ภายในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มันอัพเดตไปแล้ว 230 เวอร์ชั่น แต่พวกเรายังเป็นที่ข้างในคนเวอร์ชั่นเดิมกันอยู่หรือเปล่า และที่ยิ่งโหดร้ายกว่านั้นในช่วง 4 ปีแรกที่เฟซบุ๊กเปิดตัวฟีด ก็อัพเดตไปถึง 163 เวอร์ชั่น แต่อัตราเร่งของฟีดในช่วง 4 ปีหลัง ทะลุล้านแรกไปเรียบร้อยแล้วในช่วง 4 ปีแรก

“ทุกวันนี้แค่เราเดินอยู่ ก็แพ้แล้ว เพราะเทคโนโลยีที่ครอบเราอยู่ ปรับตัวกันอย่างรวดเร็ว การที่ Apple เปิดตัว Vision ที่เป็นแว่น บริบทพวกนี้ส่งผลต่ออัตราเร่งเปลี่ยน แชทจีนที่เติบโตขึ้นมาปุ๊บนักเขียนทุกคนได้รับผลกระทบทันที สำนักข่าวก็ได้รับผลกระทบ เพราะทุกคนผลิตคอนเทนต์แบบเรียลไทม์ได้ภายในเสี้ยววินาที จะคิด วิเคราะห์บทความอะไรในนี้ก็ได้ การที่เฟซบุ๊กเปลี่ยน ส่งผลให้มุมมองธุรกิจปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากที่เมื่อก่อนเราจ่ายเงินบูสต์โพสต์ให้ทางเฟซบุ๊กแล้วยอดถึงจะมา ของผมลงวันละ 500 บาท ก็เพิ่มมาเป็น 1,000 จากวันละ 1,000 มาเป็นวันละ 3000 เป็น 5,000 10,000 ขึ้นมาเรื่อยๆ จนเป็นวันละ 300,000 จนผมจ่ายเงินให้เฟซบุ๊กเดือนละ 6,000,000 แล้วยอดขายผมก็ยั่วยวนมาก แต่ผมทำได้อยู่ 7 เดือน เพราะเฟซบุ๊กประกาศว่าอัลกอริทึ่มเปลี่ยน

จากที่เราจ่ายเงินแล้วเคยได้ผล อยู่ๆ ยอดหายฮวบลงมา แล้วจะปรับตัวอย่างไรบริบทเปลี่ยนชัดเจน อาจจะมีเพจที่คนติดตามตอนนี้เป็นล้านคน แต่ตอนที่โพสต์คนไลก์หลักสิบ หลักร้อย มันสะท้อนภาพตรงนี้อย่างชัดเจน มีที่มาที่ไป อัตราการเห็น ลดเหลือไม่ถึง 1 แล้ว ทุกวันนี้จึงพยายามเพิ่ม Short Video บริบทการเข้าถึงของกลุ่มเป้าหมายเราปรับเปลี่ยนภาพอย่างชัดเจน เด็กวัยรุ่นเริ่มเลนเฟซบุ๊กลดลง แต่ไปอยู่ในไอจี (Instagram) แทน ผมจึงต้องมูฟมาทางนั้น เพราะลูกค้าเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่น ถ้าผมเข้ามาโพสต์ในไอจี แล้วก็ขายของไปด้วย ท่านคิดว่าจะมีลูกค้าตามเรามาไหม ไม่มี

ดังนั้นโจทย์แรกที่เราต้องคิดคือ ‘เป้าหมายเราคือใคร’ อย่างเป้าหมายผมคือวัยรุ่น จึงติดต่อเพจที่เล่าเรื่องตลกเกรียนๆ แล้วท่านสังเกตดูในเพจเหล่านี้จะมีคนกดไลก์อยู่เยอะมาก แปลว่าทราฟิกมันมา ดังนั้นผมจึงไปติดต่อเพจเหล่านี้ที่มีคนฟอลโลว์อยู่ 2-4 แสน หรือ 1 ล้าน จนตอนนี้มีเครือข่ายอยู่ที่ 200 แอคเคานท์ โดยที่ระหว่างวันทางเขาก็จะโพสต์คอนเทนต์ตลกแบบเรียลไทม์ ทางเราสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน แล้วเขาก็แจ้งขายของให้เราโดยจ่ายเงินเป็นค่าโพสต์ไป เมื่อรูปแบบการเข้าถึงเปลี่ยนไป จึงต้องปรับปรุงจากช่วงแรกที่ใช้แอดฯ เฟซบุ๊กแล้วยอดหาย ผมทำอย่างนี้จนจำนวนไลก์เพิ่มขึ้น และสามารถโยนทราฟิกมาหาผมได้ทันที” ดร.ธีรศานต์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image