อัพเดตแผนจัดการ ลุ่มน้ำชี สกัดพื้นที่ท่วม-แล้ง

อัพเดตแผนจัดการ ลุ่มน้ำชี สกัดพื้นที่ท่วม-แล้ง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ว่า สทนช. เล็งเห็นสภาพปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ที่มีปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง ปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภค ปัญหาด้านคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์สูง ประกอบกับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล

โดยพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาขา 9 ลุ่มน้ำสาขา ครอบคลุมพื้นที่ 459 ตำบล 67 อำเภอ 7 จังหวัด ได้แก่ จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด และอุดรธานี รวมพื้นที่ประมาณ 12.85 ล้านไร่

จากผลการศึกษาพบว่า พื้นที่โครงการมีสภาพปัญหาทั้งด้านอุทกภัย ภัยแล้งซ้ำซาก และฝนทิ้งช่วงเป็นประจำทุกปี รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งพบเกือบทุกพื้นที่ มีเสี่ยงภัยแล้งประมาณ 7.47 ล้านไร่ เนื่องจากมีปริมาณน้ำเก็บกักใช้การของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางรวม 2,478 ล้านลูกบาสก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 43% ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี ขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร ปศุสัตว์ ภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวทุกกิจกรรมรวมกันไม่ต่ำกว่า 3,370 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ส่งผลให้ขณะนี้มีปริมาณน้ำที่ขาดแคลน 504 ล้าน ลบ.มต่อปี

Advertisement

ส่วนฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำท่วมเกิดจากน้ำท่วมล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มริมน้ำชีและลำน้ำสาขาเนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าความจุลำน้ำและมีสิ่งกีดขวางการระบายน้ำหรือได้รับผลกระทบจากท้ายน้ำที่มีระดับสูงจนไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ทัน พบว่ามีปริมาณน้ำส่วนเกินที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมประมาณ 440 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมากกว่า 1.31 ล้านไร่ มีครัวเรือนได้รับผลกระทบอย่างน้อย 85,700 ครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาปัญหาขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตประปา ปัญหาคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมเสื่อมโทรมจากระบบบำบัดน้ำเสียไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ น้ำเสียที่ปล่อยจากการทำการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งน้ำทิ้งจากมาจากด้านเหนือน้ำก่อนเข้าพื้นที่โครงการ ล้วนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศ

ผลการศึกษาสภาพปัญหาหลักของพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง พบว่า แผนงานโครงการที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าวได้ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนงานปกติของหน่วยงานและโครงการเสนอเพิ่มเติมสอดคล้องตามแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี จำนวน 2,978 โครงการ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะกลาง (ปี 2568-70) จำนวน 2,947 โครงการ และระยะยาว (ปี 2571-80) จำนวน 31 โครงการ

Advertisement

เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,250 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 998,000 ไร่ ลดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่แม่น้ำชีตอนกลางและตอนล่างได้ 207 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่น้ำท่วมลดลง 684,000 ไร่ สามารถช่วยเติมน้ำให้แหล่งน้ำขนาดเล็กตลอดสองฝั่งลำน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ 1,348 แห่ง รวมทั้งมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 28 แห่ง

ด้าน นายพิสิษฐ์ วงศ์เธียรธนา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 จ.ขอนแก่น ได้ดำเนินการตามมาตรการด้านน้ำต้นทุนเพื่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ด้วยการก่อสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ 26 อำเภอ 124 ตำบล จำนวน 332 ฝาย รวมปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้น 8 ล้าน ลบ.ม. และได้มีการเตรียมความพร้อมตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 ได้แก่ การกำหนดพื้นที่เสี่ยง การตรวจสอบความพร้อมของอาคารควบคุมบังคับน้ำ และระบบระบายน้ำ การเตรียมความพร้อมแผนป้องกัน แผนเผชิญเหตุ ความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องจักรพร้อมใช้งานและเครื่องจักรเครื่องมือที่จะขอรับการสนับสนุนด้วย เพื่อเตรียมการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image