ส่งออกอัญมณี-เครื่องประดับไทยน่าห่วง เศรษฐกิจโลกชะลอ กดดันซื้อขายครึ่งปีหลัง

ภาพโดย 11754907/pixabay

ส่งออกอัญมณี-เครื่องประดับไทย น่าห่วง ‘เศรษฐกิจโลกชะลอ ปัญหาสถาบันการเงิน ดอกเบี้ย เงินเฟ้อสูง จีนฟื้นตัวช้า’ กดดันซื้อขายครึ่งปีหลัง

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน เม.ย.2566 มีมูลค่า 450.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 28.85% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกภาพรวมที่ลดลง และยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญหลายประเทศชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อในบางประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง และผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐ และยุโรป ทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้ลดลง

แต่หากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,265.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.29% และรวม 4 เดือน ของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออก ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 2,667.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5.35% และรวมทองคำ มูลค่า 5,390.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 18.01%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่ามีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยสหรัฐ ลดลง 10.58% เยอรมนี ลด 20.53% สหราชอาณาจักร ลด 20.45% เบลเยียม ลด 16.00% อินเดีย ลด 69.94% ญี่ปุ่น ลด 3.93% แต่อิตาลี เพิ่ม 61.47% ฮ่องกง เพิ่ม 169.19% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 43.62%

Advertisement

ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญ มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 48.50% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 24.37% พลอยก้อน เพิ่ม 28.26% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 89.92% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 124.46% ส่วนเครื่องประดับเงิน ลด 21.13% เพชรก้อน ลด 19.74% เพชรเจียระไน ลด 35.56% เครื่องประดับเทียม ลด 14.77% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า ลด 33.55% และทองคำ ลด 32.64%

นายสุเมธกล่าวว่า ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจากนี้ไปต้องจับตาเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีหลังอาจฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐมีวิกฤตสถาบันการเงิน อัตราว่างงานเพิ่ม ทำให้การปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น และกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนยูโรโซนได้รับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และจีน ที่มีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับ

ทั้งนี้ แนวทางในการปรับตัว ผู้ประกอบการควรหาโอกาสกระจายตลาดให้มีความหลากหลาย ลดการพึ่งพาตลาดหลักเพียงแห่งเดียวมากเกินไป โดยตะวันออกกลาง เป็นภูมิภาคที่น่าสนใจในการทำตลาด ทั้งยังต้องรักษาแนวทางการทำตลาดออนไลน์ไว้ให้ต่อเนื่อง เพราะธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังสามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้น โดยแนวทางการทำตลาดด้วยกลยุทธ์ Go Green Go Fast และ Go First คือ เน้นการรักษ์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีกลยุทธ์ที่รวดเร็วฉับไวในการตอบโจทย์ผู้บริโภค และเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ หรือมีผลิตภัณฑ์ในไลน์สินค้าใหม่ ๆ ก่อนคู่แข่ง จะเป็นแนวทางที่เข้ากับตลาดในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image