ทีดีอาร์ไอ แจงฉากทัศน์ตั้งรัฐบาล ล่าช้า 6 เดือน ทุนนอกเผ่น

ทีดีอาร์ไอแจงฉากทัศน์ตั้งรัฐบาล ล่าช้า 6 เดือน ทุนนอกเผ่น

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินผลกระทบการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต่อภาพรวมเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังปี 2566 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักคือการท่องเที่ยวและการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ความเสี่ยงก็มีหลายปัจจัยส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้าขึ้น โดยประเมินเป็นรายกรณี ได้แก่ 1.การจัดตั้งรัฐบาลยังมีความไม่แน่นอน หากจัดตั้งรัฐบาลช้ากว่ากำหนดในเดือนสิงหาคม เช่น ล่าช้าไป 1 เดือน จะกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน หากจัดตั้งล่าช้าออกไปถึง 5-6 เดือน นักลงทุนจะไม่รอและตัดสินใจไปลงทุนในประเทศอื่นแทน

2.หากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อจะทำให้การจัดสรรงบประมาณปี 2567 ล่าช้าออกไป ส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐน้อยลง การใช้งบประมาณในไตรมาส 4/2566 อาจจะไม่ได้ใช้งบประมาณใหม่ปี 2567 โดยยังต้องใช้งบประมาณปี 2566 อยู่ ดังนั้น การใช้จ่ายภาครัฐช่วงเวลาดังกล่าวอาจไม่มีเงินงบประมาณสนับสนุนด้านเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ

น.ส.กิริฎากล่าวว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ที่รอติดตามผลการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนที่มองว่านโยบายภาครัฐอาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ เช่น ธุรกิจที่ใช้แรงงานสูง จะรอติดตามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท แต่ถ้าเป็นนักลงทุนที่มองว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล เช่น ธุรกิจพลังงานสะอาด การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า นักลงทุนกลุ่มนี้ยังมั่นใจจะลงทุนในประเทศไทย
“ไทม์มิ่งการจัดตั้งรัฐบาลว่าเร็วหรือช้าจะสำคัญต่อการตัดสินใจของนักลงทุน นอกจากนี้ ยังรอดูนโยบายต่างๆ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ หรือนโยบายด้านพลังงาน ประเด็นเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจในภาพรวม” น.ส.กิริฎากล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image