“แบงก์ชาติ” ชี้ต้นทุนดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลัก ดันหนี้เสียเช่าซื้อรถยนต์พุ่ง

‘แบงก์ชาติ’ ชี้ต้นทุนดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลัก ดันหนี้เสียเช่าซื้อรถยนต์พุ่ง ระบุที่ผ่านมาผู้ประกอบการแข่งขันปล่อยสินเชื่อจนลืมดูคุณภาพผู้กู้

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวในในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2566 ถึงกรณีเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย จะกระทบกับผู้กู้และการผ่อนชำระหนี้หรือไม่ หลังจากมีแนวโน้มค้างชำระหรือผิดนัดชำระ (เอสเอ็ม) 30-90 วัน ใกล้จะตกชั้นเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) มากขึ้น ว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดการขยายตัวของสินเชื่อ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดการขยายตัวของคุณภาพของสินเชื่อ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ ในช่วงก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการมีการแข่งขันสูง ทำให้ต้องประเมินความสามารถชำระหนี้ลูกค้า เพราะในช่วงแข่งขันมากอาจมีข้อจำกัดบางอย่าง แต่ไม่สามารถนำมาเทียบหนึ่งต่อหนึ่งกับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้

ดังนั้น จะมองว่าเป็นผลกระทบที่เกิดโดยตรงของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดคงไม่ได้ อย่างสินเชื่อที่ชะลอลง โดยได้กล่าวถึงเศรษฐกิจระยะข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงถึงโครงการการดำเนินธุรกิจ จากข้อมูลล่าสุด ธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้โอนพอร์ตสินเชื่อเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลออกไปที่บริษัทลูก ซึ่งจะเห็นสินเชื่อขยายตัวลดลง และยังมีเรื่องการคืนซอฟต์โลน ซึ่งทั้งหมดมีทั้งเรื่องปริมาณการปล่อยสินเชื่อ และคุณภาพปล่อยสินเชื่อ ที่นอกเหนือจากดอกเบี้ยด้วย

“แม้ดอกเบี้ยสินเชื่อปล่อยใหม่ ในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) ปรับเพิ่มขึ้น แต่มีสินเชื่อเดิมที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ดอกเบี้ยปรับขึ้น เพราะกลุ่มนี้ดอกเบี้ยยังต่ำอยู่ แต่สินเชื่อปล่อยใหม่ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นบ้าง เช่น บางสัญญาอย่างสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และหากจ่ายค่างวดสินเชื่อบ้านด้วย ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น” นายสุรัชกล่าว

ADVERTISMENT

นายภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เรื่องสินเชื่อตอนเกิดวิกฤตโควิดก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ หากไปดูวงจรสินเชื่อช่วงวิกฤตโควิด สถาบันการเงินปล่อยกู้สูงมาก ซึ่งเป็นความร่วมมือร่วมกันระหว่างผู้ดำเนินนโยบาย และธนาคารพาณิชย์ หากย้อนกลับไปในอดีตถ้าเศรษฐกิจไม่ดีจะชะลอการปล่อยกู้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกันทุกฝ่ายร่วมมือกันประคองเศรษฐกิจ สะท้อนจากการปล่อยสินเชื่อในระดับสูง

ขณะเดียวกัน ช่วงนี้เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งสินเชื่อที่เคยค้างอยู่นั้น สถาบันการเงินก็ไม่ได้เร่งปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะลูกหนี้ยังมีหนี้เดิมจากการปล่อยกู้สินเชื่อเดิม ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจสถาบันการเงินก็เป็นกระบวนการธรรมชาติสะท้อนว่าการปล่อยสินเชื่อชะลอลงมา ทั้งนี้ ในธุรกิจขนาดใหญ่จะมีการปล่อยหุ้นกู้ หรือระดมทุนทางอื่นที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งสถาบันการเงิน

ADVERTISMENT

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ไทยเจอวิกฤตมา 2-3 ปี สถาบันการเงินมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทำให้ตัวเลขหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ไตรมาสแรกปี 2566 ลดลงเหลือ 2.6% แต่ก็มีบางสินเชื่อ เช่น สินเชื่อรถยนต์มีแนวโน้มผิดนัดชำระเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นน้อยลงจากไตรมาส 4/2565 เพราะการบริหารจัดการของธนาคาร

“จริงๆ แล้วหนี้ครัวเรือนก็สูงอยู่แล้ว แต่เรื่องหนี้เสียและการผิดนัดชำระที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนมีรายได้น้อยเป็นหลัก และส่วนใหญ่หนี้เหล่านี้จะอยู่ที่กับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือนอนแบงก์เป็นหลัก” นายสักกะภพกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image