‘ธปท.’ ชี้การเมืองไทยไร้รัฐบาลใหม่ กระทบจัดสรรงบประมาณปี’67 ยืด 1 ไตรมาส

‘ธปท.’ ชี้การเมืองไทยไร้รัฐบาลใหม่ กระทบจัดสรรงบประมาณปี’67 ยืด 1 ไตรมาส

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2566 กล่าวถึงความกังวลว่าในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ โดยในส่วนของนโยบายการคลังอาจไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่นั้น

นายปิติกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอจะใส่ไปในกรณีพื้นฐานว่านโยบายด้านการคลังจะเป็นอย่างไร มีเพียงกรอบงบประมาณที่อนุมัติไว้แล้วในปี 2566 และ 2567 ที่ใช้เป็นฐานในการพิจารณาไปก่อน และค่อนข้างชัดเจนว่างบประมาณปี 2567 อาจจะล่าช้าไป 1 ไตรมาส อีกทั้งเห็นว่ามีเวลาเพียงพอที่จะรอดูความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจัดตั้ง และมีความเสี่ยงด้านสูงว่ารัฐบาลใหม่จะมีการใช้จ่ายมากขึ้น อาจส่งผลให้เศรษฐกิจร้อนแรงขึ้น อีกทั้งยังมีความเป็นได้ว่าจะทำให้แรงกดดันด้านอุปสงค์สูงขึ้น

นายปิติกล่าวว่า สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าว่าสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ใช้ในการพิจารณาคือแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจต่างประเทศจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาก็ต่อเมื่อจะมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจ หรือภาวะการเงิน ซึ่งตั้งแต่ปีที่ผ่านมา รวมทั้งปัจจุบัน และอนาคต ดังนั้น ที่ผ่านมาวัฏจักรเศรษฐกิจของไทย และสหรัฐมีความแตกต่างกัน ของสหรัฐจะฟื้นตัวเร็วและแรงกว่า ส่วนของไทยจะทยอยฟื้นตัวตามลำดับ

Advertisement

“กนง.จะพิจารณาในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป คือ การพิจารณาให้เกิดความสมดุลทั้งเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงิน ดังนั้น แนวนโยบายที่ดำเนินมาถึงจุดนี้ กนง.จึงมองว่ายังเป็นสิ่งที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน เห็นว่ายังมีเวลาอีก 1 เดือนครึ่งก่อนที่จะมีการประชุม กนง.รอบถัดไปในเดือนสิงหาคม ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็จะมีข้อมูลอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมได้อีก” นายปิติกล่าว

ทั้งนี้ ได้ประเมินภาพเศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัวได้ในระดับ 3.6% และปี 2567 ที่ 3.8% โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแรงส่งที่สำคัญจากภาคการท่องเที่ยว จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ระดับ 29 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 35.5 ล้านคน ในปี 2567 และการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าปีนี้ติดลบ 0.1% แต่มีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลัง และคาดว่าการส่งออกไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ระดับ 3.6% ในปี 2567

@ชี้ปรับดอกเบี้ยตามความเสี่ยงฉุดศก.

Advertisement

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นายภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับอัตราดอกเบี้ยรวม 6 ครั้งติดต่อกัน จาก 0.50% ในเดือนสิงหาคม 2565 จนสู่ระดับ 2.00% ในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยเป้าหมายของการดำเนินนโยบายทางการเงินต้องการประคองให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องเพื่อกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ เงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมายและดำรงอยู่อย่างยั่งยืน

ดังนั้น กนง.จึงเห็นควรให้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมจะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

นายภูริชัยกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ในปีนี้เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-3% ซึ่งเป็นการลดลงจากแรงกดดันด้านอุปทานที่เริ่มลดลงจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันในประเทศ ขณะที่ราคาอาหารสด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังทรงตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับอดีต และลดลงช้าเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยคาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน จะอยู่ที่ 2.0%

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าระดับดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ซึ่งคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยง อาทิ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจ โดยแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวมีมากขึ้น และแรงส่งจากนโยบายภาครัฐในระยะข้างหน้า

2.แนวโน้มเงินเฟ้อ ซึ่งการส่งผ่านต้นทุนที่มีการจำกัดในอดีต และจะมีการเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า หากมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้น โดยเฉพาะหากแรงกดดันด้านอุปทานเพิ่มมากขึ้น และ 3.ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง หลังจากมีกลุ่มได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด ทำให้ต้นทุนทางด้านการเงินเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องยืดหยุ่น สอดคล้องกับแนวโน้มความเสี่ยงในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ การส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารพาณิชย์ สอดคล้องกับแนวนโยบายและภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารพาณิชย์มีการดูแลกลุ่มเปราะบาง สะท้อนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใช้กับธุรกิจขนาดเล็ก (MRR) มีการปรับดอกเบี้ยส่งผ่านน้อยกว่ากลุ่มอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ซึ่งช่วยบรรเทากลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ

“อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การปรับอัตราดอกเบี้ยของไทย โดยอัตราดอกเบี้ยระดับสุดท้ายในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น (Terminal rate) ไม่ควรสูงหรือต่ำจากระดับที่เป็นดอกเบี้ยที่แท้จริง หรืออัตราดอกเบี้ยที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ (Neutral interest rate) ทั้งนี้ การปรับดอกเบี้ยจะคำนึงถึงความเสี่ยงตลอดเวลา” นายภูริชัยกล่าว

@ขึ้นดอกไม่กระทบสินเชื่อ

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงกรณีเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยที่สูงจะกระทบกับผู้กู้และการผ่อนชำระหนี้หรือไม่ หลังจากมีแนวโน้มค้างชำระ 30-90 วัน หรือเอสเอ็ม ใกล้จะตกชั้นเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) มากขึ้น ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดการขยายตัวของสินเชื่อ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดการขยายตัวของคุณภาพของสินเชื่อ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ ในช่วงก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการมีการแข่งขันสูง ทำให้ต้องประเมินความสามารถชำระหนี้ลูกค้า เพราะในช่วงแข่งขันมากอาจมีข้อจำกัดบางอย่าง แต่ไม่สามารถนำมาเทียบหนึ่งต่อหนึ่งกับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้

ดังนั้น จะมองว่าเป็นผลกระทบที่เกิดโดยตรงของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดคงไม่ได้ อย่างสินเชื่อที่ชะลอลง โดยได้กล่าวถึงเศรษฐกิจระยะข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงถึงโครงการการดำเนินธุรกิจ จากข้อมูลล่าสุด ธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้โอนพอร์ตสินเชื่อเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลออกไปที่บริษัทลูก ซึ่งจะเห็นสินเชื่อขยายตัวลดลง และยังมีเรื่องการคืนซอฟต์โลน ซึ่งทั้งหมดมีทั้งเรื่องปริมาณการปล่อยสินเชื่อ และคุณภาพปล่อยสินเชื่อ ที่นอกเหนือจากดอกเบี้ยด้วย

“แม้ดอกเบี้ยสินเชื่อปล่อยใหม่ ในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) ปรับเพิ่มขึ้น แต่มีสินเชื่อเดิมที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ดอกเบี้ยปรับขึ้น เพราะกลุ่มนี้ดอกเบี้ยยังต่ำอยู่ แต่สินเชื่อปล่อยใหม่ มีดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นบ้าง เช่น บางสัญญาอย่างสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และหากจ่ายค่างวดสินเชื่อบ้านด้วย ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น” นายสุรัชกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image