คิดเห็นแชร์ : ช่วงท้ายของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น?

คิดเห็นแชร์ : ช่วงท้ายของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น?

บทความ “คิด เห็น แชร์” นี้ จะกล่าวถึงประเด็นเรื่องวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยที่กำลังใกล้เข้าสู่ช่วงท้ายของวัฏจักร หลังจากที่ผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ล่าสุดวันที่ 14 มิถุนายน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25% แต่ที่ประชุมเฟดปรับเพิ่ม “เป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” สิ้นปี 2566 เป็น 5.6% จาก 5.1% สะท้อนว่าเฟดอาจทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ จากปัจจุบัน 5.25% สู่ 5.75% ทั้งนี้ที่ประชุมเฟดได้ทำการปรับคาดการณ์ตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ปี 2566 ขึ้นเป็น 1.0% จากเดิม 0.4% ขณะเดียวกันที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ล่าสุดวันที่ 15 มิถุนายน มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% สู่ระดับ 3.5% สูงสุดในรอบ 22 ปี และมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในการประชุมที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนที่ยังสูงและห่างจากเป้าหมายมาก ผลการประชุมของทางเฟดและอีซีบี สะท้อนว่าวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของทางสหรัฐและยูโรโซนยังมีแนวโน้มปรับขึ้นได้อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ผมประเมินว่าวัฏจักรของอัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้สู่ระดับสูงสุดแล้วและมีโอกาสที่ทางเฟดและอีซีบี จะทำการตัดสินใจ “ลด” หรือ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อสหรัฐที่เริ่มชะลอตัว ขณะที่ทางยูโรโซนเริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว

ในทางกลับกันธนาคารกลางจีน (PBoC) ส่งสัญญาณการใช้มาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมากแล้ว โดย PBoC ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย reverse repo อายุ 7 วันลง 10bps เหลือ 1.9% และอัตราดอกเบี้ย standing lending facilities (SLF) อายุ 7 วันลง 10bps เหลือ 2.9% นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคาดว่าทางการจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย medium-term lending facilities (MLF) ซึ่งเป็นตัวที่ตลาดให้ความสนใจอย่างมากตามมาอีกในวันที่ 15 มิถุนายน ทั้งนี้ การกดให้ต้นทุนทางการเงินในตลาด interbank ลดลงจะมีส่วนช่วยให้สภาพคล่องในระบบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่ทางการจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย loan prime rate (LPR) ในวันที่ 20 มิถุนายน ซึ่งการปรับนโยบายการเงินของ PBoC ครั้งนี้สวนทางกับเฟดและอีซีบีอย่างชัดเจน

จากข้อมูลในปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐ และยุโรปจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในครึ่งปีหลังของปี 2566 (2H66) แต่จะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจึงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกำหนดภาวะเศรษฐกิจมหภาคโลก ซึ่งในกรณีบวกที่มาตรการกระตุ้นทางการเงินของจีน และมาตรการกระตุ้นในรูปแบบอื่นๆ ที่อาจจะมีการออกตามมา สามารถทำให้อุปสงค์ในประเทศจีนแข็งแกร่งขึ้นได้ จะทำให้เศรษฐกิจโลกใน 2H66 ฟื้นตัวมากกว่าคาดได้ จะเห็นได้ว่าผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนมีโอกาสจะทำให้ โมเมนตั้มของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกใน 2H66 จะพลิกกลับมาที่ประเทศจีน ขณะที่เศรษฐกิจทางฝั่งตะวันตกมีโอกาสที่จะซบเซา อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ ประเมินการลดอัตราดอกเบี้ยของทางการจีนเพียงอย่างเดียวในขณะนี้ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ ต้องติดตามว่าทางการจีนจะมีมาตรการอื่นๆเพิ่มเติมอีกหรือไม่

Advertisement

กลับมาที่ภาพรวมการลงทุนตลาดหุ้นไทย ผมประเมินว่าจากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของทางสหรัฐและยูโรโซนที่ยังไม่ถึงจุดสูงสุดในขณะนี้ มีโอกาสที่จะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยและรวมถึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในระยะสั้น แม้ว่า PBoC จะเริ่มใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินแล้วก็ตาม ดังนั้น แนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้จะยังแกว่งตัวในกรอบ เพื่อรอปัจจัยการเมืองไทยที่ในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน ในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งผมประเมินว่าเป็นโอกาสที่ดีในการทยอยซื้อสะสมหุ้นไทยเมื่อราคาอ่อนตัว โดยเฉพาะหุ้นที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนและภาคการท่องเที่ยวไทย ที่คาดจะยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง รวมทั้งหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่คาดจะยังได้รับประโยชน์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจนถึงปลายปีนี้

สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image