STARK รายงานงบปี 65 หนี้สินรวม 3.8 หมื่นล้าน ขาดทุน 6.6 พันล้าน

STARK รายงานงบปี 65 หนี้สินรวม 3.8 หมื่นล้าน ขาดทุน 6.6 พันล้าน

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ กรรมการและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) รายงาน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ในปี 2565 งบการเงินของกลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการจำนวน 25,213 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,158 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32.31% เมื่อเทียบจากปี 2564 และมีรายได้รวมจำนวน 25,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,609 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 34.57% เมื่อเทียบกับปี 2564

โดยมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 6,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 662 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 11.04% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ขาดทุนสุทธิ 5,989 ล้านบาท ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 3,473 ล้านบาท

ทั้งนี้สาเหตุที่ STARK ขาดทุนสุทธิในปี 2565 เป็นผลมาจากการดำเนินงาน การตั้งสำรองการด้อยค่าของทรัพย์สินและเงินลงทุน ผลขาดทุนด้านเครดิตทั้งจากลูกค้าและเงินให้กู้ยืมระหว่างกัน รวมถึงการขาดทุนจากสินค้าสูญหาย

Advertisement

โดยสิ้นปี 2565 กลุ่มบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 4,403 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากยอดติดลบจำนวน 2,844 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2564 ทั้งนี้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบของปี 2565 และปี 2564 เป็นผลมาจากการขาดทุนจากการดำเนินงานและการปรับปรุงรายการข้อผิดพลาดในแต่ละปี

โดยมีสินทรัพย์จนถึงสิ้นปี 2565 รวมจำนวน 34,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากจำนวน 29,877 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2564 โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสินทรัพย์หมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น จำนวน 5,396 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นจากเงินสดที่ได้รับมาจาการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัดและลูกหนี้การค้า

มีหนี้สินรวมจำนวน 38,566 ล้นบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 17.8% จากจำนวน 32,722 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2564 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเจ้าหนี้การค้าที่ได้เป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น เจ้าหนี้ทรัสต์รีซีทส์ และหุ้นกู้ที่ออกในปี 2565 ขณะที่เงินกู้ยืมธนาคารระยะยาวบางส่วนมียอดลดลง เนื่องจากมีการชำระคืนเมื่อถึงกำหนด

Advertisement

ทั้งนี้สำหรับส่วนเจ้าหนี้หุ้นกู้ ในเดือน พ.ค. 2566 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้หมายเลข STARK239A และ STARK249A ซึ่งมีเงินต้นคงค้างรวมเป็นจำนวน 944 ล้านบาท มีมติอนุมัติเรียกให้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้หุ้นกู้ทั้งหมดถึงกำหนดโดยพลัน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้วงเงินทุนหมุนเวียนและจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน

STARK อยู่ระหว่างการเจรจาเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน จากปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดความไม่แน่นอนเป็นสาระสำคัญ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยต่อความสามารถในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของ STARK

“STARK ตระหนักถึงผลกระทบอย่างรุนแรงจากข้อมูลความจริงที่ถูกเปิดเผย และนำเสนอในงบการเงินนี้ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถือหุ้นกู้ เจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นของ STARK คณะกรรมการและคณะผู้บริหารชุดใหม่กำลังเร่งดำเนินการร่วมกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินอย่างเร่งด่วนเพื่อหาทางแก้ปัญหาให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งกำลังเร่งแก้ไขสาเหตุหลักของปัญหาที่ทำให้ STARK ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ทั้งการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายในเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีก” นายวนรัชต์ กล่าว

“เราตระหนักถึงความกังวลของนักลงทุนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อความล่าช้าในการจัดทำงบการเงินปี 2565 ของ STARK และการเลื่อนกำหนดการส่งงบการเงินจำนวนหลายครั้ง เพื่อให้การจัดทำรายงานทางการเงินที่สะท้อนฐานะการเงินและผลดำเนินงานของ STARK รวมถึงการปรับปรุงรายการบัญชีการเงินที่เกี่ยวข้องให้สะท้อนความเป็นจริง

ดังนั้นขอเรียนว่า STARK อยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับผู้ตรวจสอบบัญชีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (special audit) รวมถึงการขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เพิ่มเติม ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ฉบับลงวันที่ 17 พ.ค. 2566 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ

และผลของการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษดังกล่าวอาจจะเกิดการปรับปรุงข้อมูลในงบการเงินของ STARK ได้จากข้อจำกัดดังกล่าวทำให้เกิดความไม่แน่นอนของผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตรวจสอบพิเศษ (special audit) ต่องบการเงินของ STARK โดยเฉพาะรายการในงบกระแสเงินสดได้ ดังนั้นหากตรวจพบรายการปรับปรุงเพิ่มเติม จะดำเนินการแก้ไขตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา

ทั้งนี้ในการจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 ผู้บริหารชุดใหม่ของบริษัทตรวจพบข้อผิดพลาดหลายประการในงบการเงินปี 2564 ลงวันที่ 23 ก.พ. 2565 ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายบัญชีในงบการเงินและเป็นจำนวนเงินที่เป็นสาระสำคัญ รวมถึงรายได้จาการขายและต้นทุนขาย รายได้จากการให้บริการและต้นทุนให้บริการ สินค้าคงเหลือ ลูกหนี้และค่าเผื่อขาดทุนด้านเครดิต และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยรายการดังกล่าวข้างต้นถือเป็นรายการที่ผิดปกติ

สำหรับงบการเงินปี 2565 ผู้สอบบัญชี (บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด) ได้ตรวจสอบและรับรองงบการเงิน โดยไม่แสดงความเห็นด้วยเหตุที่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง (Going Concern) ของกลุ่มบริษัทฯ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักลงทุน STARK บุก ก.ล.ต. หวังเร่งใช้อำนาจสูงสุดในตลาดทุนช่วยเหลือ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image