รื้อกฎหมายสาวถึงผู้ก่อมลพิษ ก.อุตฯสั่ง 2.7หมื่นรง. แจงปริมาณกากด่วน เดดไลน์ 30 มิ.ย.

สั่ง 2.7 หมื่นรง. แจงปริมาณกากด่วน เดดไลน์ 30 มิ.ย.-ฝ่าฝืนปรับสูงสุด 2 หมื่น ก.อุตฯรื้อกฎหมายลุยสาวถึงผู้ก่อมลพิษ

นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวทางควบคุมผู้ก่อกำเนิดของเสียเป็นผลจากนโยบายของ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมขับเคลื่อนงานภายใต้นโยบาย MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน มุ่งสู่ความสำเร็จใน 4 มิติ ได้แก่ ความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การกระจายรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในมิติของการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม

โดยการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้กฎหมายในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และต้องมีการจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ของเสียจากภาคอุตสาหกรรมหลุดออกจากระบบ อาจส่งผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ขณะนี้จึงแจ้งเตือนผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลกากอุตสาหกรรม ให้เร่งดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียจำนวน 60,638 โรงงานทั่วประเทศ โดยมีโรงงานที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลกว่า 27,000 แห่ง

Advertisement

“กระทรวงได้กำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เร่งประสานผู้ประกอบกิจการโรงงานรายงานข้อมูลการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วผ่านระบบข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายในกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด คือไม่เกินวันที่คือ 30 มิถุนายน 2566 นี้ หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท” นายวิษณุกล่าว

ปัจจุบันกากอุตสาหกรรมทั้งระบบมีจำนวน 23 ล้านตัน จำนวนนี้เป็นกากอันตราย 1.5 ล้านตัน เมื่อเร็วๆ นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ปรับปรุงกฎหมายฉบับล่าสุด คือ “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2566” นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle : PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ กำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

โดยการปรับปรุงกฎหมายนี้เพื่อให้การปราบปรามผู้ลักลอบทิ้งกากครบทั้งวงจร เพราะที่ผ่านมาจะเน้นการติดตามข้อมูลจากผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย คือโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 จำนวน 2,500 โรงงานทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันเพิ่มการตรวจสอบผู้ก่อกำเนิดด้วย มั่นใจจะทำให้การแก้ปัญหากากอุตสาหกรรมดีขึ้น

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image