กอนช.ถก ‘หน่วยน้ำ’ วางแผนบริหารน้ำยาวถึงปี’67 พร้อมเตรียมแผนสำรองน้ำรับมือเอลนิโญ

กอนช.ถก ‘หน่วยน้ำ’ วางแผนบริหารน้ำยาวถึงปี’67 พร้อมเตรียมแผนสำรองน้ำ รับมือพื้นที่เสี่ยง-เอลนิโญ

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ ว่าในระยะนี้ กอนช.จะมีการประชุมเพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบของสภาวะเอลนิโญ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นยาวไปถึงปี 2567

นายสุรสีห์กล่าวอีกว่า คาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำในปี 2566 และ 2567 จะคล้ายกับสถานการณ์น้ำเมื่อปี 2562 ซึ่งเกิดสภาวะเอลนิโญต่อเนื่องจนถึงปี 2563 เช่นเดียวกัน ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนต่างๆ รวมถึงแหล่งน้ำสำรองในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยใช้ข้อมูลในปี 2563 เพื่อประเมินปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 สำหรับใช้ในการบริหารจัดการน้ำระยะยาว 2 ปี

Advertisement

นายสุรสีห์กล่าวว่า โดยมุ่งกักเก็บน้ำต้นทุนส่งต่อไปยังปี 2567 ให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งหากยังคงมีปริมาณฝนน้อยต่อเนื่องถึงปีหน้า เนื่องจากปัจจุบันคาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้ปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จะมีปริมาณเพียง 60-70% เท่านั้น

“เนื่องจากมีปริมาณฝนน้อยส่งผลให้ขณะนี้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ น้อยมาก อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ ขณะนี้มีปริมาณน้ำน้อย ปัจจุบันจึงต้องใช้น้ำจาก เขื่อนภูมิพล ในการช่วยหล่อเลี้ยงเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากไม่มีน้ำไหลเข้าเพิ่ม ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลจึงพร่องลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ในปีนี้จึงต้องมีการเน้นย้ำเรื่องการประหยัดน้ำโดยส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกเพียงหนึ่งรอบเท่านั้น เพื่อสงวนน้ำไว้สำหรับกิจกรรมต่างๆ ในฤดูแล้งที่จะมาถึง

“ให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก รวมถึงป้องกันการยืนต้นตายของไม้ผลไปจนถึงการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและรักษาระบบนิเวศ โดยขอให้เกษตรกรติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงของการเพาะปลูกจากฝนทิ้งช่วง” นายสุรสีห์กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ กรมชลยังได้มีการส่งเสริมการปลูกข้าวเบาที่มีอายุสั้นและเก็บเกี่ยวได้เร็วเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ที่สุด รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เพื่อรองรับหากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงด้วย ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำจะเป็นไปอย่างรอบคอบ คำนึงถึงผลกระทบระยะยาวเพื่อสำรองน้ำไว้จนถึงปี 2567 ให้ได้มากที่สุด เพื่อบริหารความเสี่ยงหากสภาวะเอลนิโญเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 ด้วย

สำหรับ พื้นที่ประสบภัยแล้ง ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่น อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี เป็นต้น สทนช.ได้ติดตามสถานการณ์และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ สามารถแจ้งข้อมูลเข้ามาได้ที่เพจเฟซบุ๊กของ สทนช. หรือแจ้งไปยัง สทนช.ทั้ง 4 ภาค โดยจะมีการติดตามตรวจสอบและประสานงานให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาโดยเร็วที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image