ขีดแข่งขันไทยผงกหัว สวนทางปม ฐานภาษี-การศึกษา ซุกใต้พรม รอสังคายนาครั้งใหญ่!!

ขีดแข่งขันไทยผงกหัว สวนทางปม ฐานภาษี-การศึกษา ซุกใต้พรม

ข่าวดีเล็กๆ แต่สร้างความหวังให้ประเทศยามนี้ น่าจะมาจากสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) ที่รายงานว่า สถาบันการจัดการนานาชาติ (ไอเอ็มดี) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2566 โดยให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งปรับดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 33 ในปีที่แล้ว และมีผลคะแนนสุทธิดีขึ้นมาอยู่ที่ 74.54 จาก 68.67 ในปีที่แล้ว

ส่วนประเทศที่มีความขีดความสามารถในการแข่งขัน ปี 2566 ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 คือเดนมาร์ก ครองแชมป์ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ส่วนอันดับ 2 คือไอร์แลนด์ ขยับขึ้นมามากสุดถึง 5 อันดับจากปีที่แล้ว อันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 4 สิงคโปร์ อันดับ 5 เนเธอร์แลนด์ อันดับ 6 ไต้หวัน อันดับ 7 ฮ่องกง อันดับ 8 สวีเดน อันดับ 9 สหรัฐอเมริกา และอันดับ 10 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และหากเปรียบเทียบกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน พบว่า อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ โดยอยู่ลำดับโลกสูงสุดในภูมิภาคที่อันดับ 4 รองลงมาคือ มาเลเซียอันดับ 27 ไทยอันดับ 30 อินโดนีเซียอันดับ 34 และฟิลิปปินส์อันดับ 52 ตามลำดับ

⦁เศรษฐกิจไทยโดดขึ้น18อันดับ
เมื่อพิจารณาปัจจัยในการจัดอันดับนั้น ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วในทุกด้าน โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) อยู่อันดับ 16 ปรับตัวดีขึ้นถึง 18 อันดับ สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศที่ไทยอันดับดีขึ้น มาอยู่ที่อันดับ 22 จากที่เคยอยู่อันดับ 33 ในปี 2565 การลงทุนในไทยรวม มูลค่ากว่า 1.28 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 4.6 หมื่นล้านบาท หรือ 56% การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่ไทยขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 29 ปรับตัวขึ้น 8 อันดับจากปีก่อน

ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ภาพรวมอยู่ที่อันดับ 24 ในปี 2566 ขยับขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ สาเหตุหลักกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) และกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) มาอยู่ที่อันดับ 34 และ 31 ตามลำดับในปีนี้ โดยทั้งสองปัจจัยย่อยปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนถึง 7 อันดับ อย่างไรก็ดี มี 2 ปัจจัยย่อยที่มีอันดับลดลง ได้แก่ กรอบการบริหารสังคม (Societal Framework) ที่อันดับลดลง 3 อันดับจากปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 47 และนโยบายภาษี (Tax Policy) ที่อันดับลดลง 1 อันดับจากปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 8

Advertisement

ขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ภาพรวมอยู่ที่อันดับ 23 ในปี 2566 ดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 38 จากอันดับ 47 ในปี 2565

รวมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ภาพรวมอยู่ที่ อันดับ 43 ในปี 2566 ขยับขึ้นเพียง 1 อันดับ จากปี 2565 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี (Technological Infrastructure) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ จากอันดับ 34 ในปี 2565 มาอยู่ที่ อันดับ 25 ตามลำดับในปีนี้ แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ไทยต้องเร่งพัฒนา คือเรื่องการศึกษา (Education) และสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (Health & Environment) ที่มีอันดับลดลง

⦁สศช.เชื่อต่างชาติมั่นใจศก.ไทย
จากผลการจัดอันดับดังกล่าว นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ให้ความเห็นว่า การปรับอันดับดีขึ้นมา 3 อันดับ จากลำดับที่ 33 เป็นลำดับที่ 30 แม้จะดูไม่เยอะ แล้วเรายังคงเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนเหมือนเดิม ถ้าดูรายละเอียดในแง่ของตัวสมรรถนะทางเศรษฐกิจ อันดับไทยกระโดดขึ้นมาถึง 18 อันดับ นั่นหมายถึงสิ่งที่ต่างประเทศมองประเทศไทย ด้วยการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างความมั่นใจ และทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแรงอยู่

Advertisement

ในแง่ประสิทธิภาพของภาครัฐ ก็ขึ้นมา 7 อันดับ โดยเฉพาะเรื่องฐานะการคลัง ที่มีวินัยในการคลังดี เพราะฉะนั้นก็ต้องเร่งเดินหน้าต่อไป ส่วนในแง่ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ก็ขยับขึ้นมา 7 อันดับเช่นกัน แต่สิ่งที่มันขยับน้อยมากก็คือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของระบบสาธารณูปโภค แต่สิ่งที่อันดับของไทยยังอยู่ท้ายๆ คือโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการศึกษา ซึ่งยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

⦁รายได้ภาษีอุปสรรครัฐสวัสดิการ
นอกจากนี้ ในปัจจัยย่อย อย่างนโยบายด้านภาษี ไอเอ็มดียังมองว่าเป็นปัญหาอยู่ คือเรื่องของฐานภาษีที่ประเทศไทยไม่สามารถขยายได้มากขึ้น จากที่ทราบกันว่าในระบบภาษีไทยมีผู้ยื่นแบบเสียภาษีบุคคล อยู่ที่ 11 ล้านคนแต่จ่ายจริงประมาณ 3-4 ล้านคน

การที่จะทำสวัสดิการถ้วนหน้าได้ไทยต้องมีฐานะการเงินการคลังที่เข้มแข็งมากกว่านี้ การจัดเก็บรายได้ต้องมากกว่านี้ นั่นหมายถึงว่าฐานภาษีอาจจะต้องกว้างกว่าที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าคนไทยต้องการมีรัฐให้สวัสดิการแก่ประชาชนมากขึ้น รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สวัสดิการพวกนี้เป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้น จะต้องเร่งปรับโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะในเรื่องของการขยายฐานภาษี กลุ่มที่เคยอยู่นอกระบบต้องดึงให้เข้ามาอยู่ในระบบ แล้วก็ต้องทำในเรื่องของการเสียภาษีมันเป็นหน้าที่ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ควรจะต้องหลีกเลี่ยง

“ในระยะถัดไปมีการพูดเรื่องสวัสดิการต่างๆ ที่ควรจะเพิ่มให้กับประชาชน จริงๆ แล้วต้องดูความเหมาะสมในหลายๆ ช่วงเวลา และสถานการณ์ด้านการเงินการคลังด้วย เพราะฉะนั้นในปัจจุบันการทำเรื่องรัฐสวัสดิการต่างๆ ให้สวัสดิการสำหรับประชาชนมันคงต้องพุ่งเป้าว่ากลุ่มนี้ต้องการอะไร และรัฐบาลจะช่วยแบบไหน คงยังไม่สามารถทำถ้วนหน้าให้ได้” เลขาฯสภาพัฒน์กล่าว

⦁เร่งปรับการศึกษา-สิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน ในเรื่องที่ยังไม่ดีอย่างโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องการศึกษาควรต้องปรับโครงสร้างการศึกษาใหม่ ต้องมีแพลตฟอร์มให้การศึกษาไทยผลิตคนให้ดีขึ้น เพราะเป็นสิ่งสะท้อนผลิตภาพแรงงานของไทยยังไม่ค่อยดีนัก ต้องพยายามฝึกทักษะ สร้างแรงงานให้มีคุณภาพมากขึ้น ต้องทำผ่านระบบการศึกษา

“ส่วนโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและพัฒนา ขณะนี้ไทยทำงานมากขึ้น เพียงแต่อันดับยังไม่เด้งขึ้นมา ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ ไทยไม่ได้มีปัญหา ส่วนเรื่องที่ไม่ดีขึ้น คือ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่แก้ไม่ตกหลายปีแล้ว ทุกคนต้องช่วยกันเดินหน้าทำให้ดีขึ้นในอนาคต” เลขาฯสภาพัฒน์ทิ้งท้าย

การพัฒนาประเทศยังมีปัจจัยท้าทาย ฝากความหวังรัฐบาลใหม่สังคายนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เพื่อให้ประเทศไทยได้ผงาดบนเวทีโลกอย่างมั่นคง ไม่ต้องลุ้นอันดับขึ้นลงทุกปีแบบนี้!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image